ดื่มแอลกอฮอล์แล้วหน้าแดงเลือดฝาด คิดว่าเลือดลมสูบฉีดดี … เป็นความเชื่อที่ผิด !
เมื่อเหล้าไหลลงคอนักดื่มแล้ว แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านกะเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเลือดที่มีแอลกอฮอล์ไหลผ่านไปที่ตับ ยีนที่มีชื่อว่า ADH1C ที่อยู่ที่ตับ จะสร้างเอนไซม์ Alcohol Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นสารอะเซตัลดีไฮด์ คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานมากกว่าคนอื่น) เวลาดื่มเหล้า ร่างกายจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นอะเซตัลดีไฮด์ได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ในเลือดเพิ่มสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง หรือมีผื่นแดงขึ้นที่ตามลำตัว ใจสั่น หายใจสั้น ปวดหัว
หลังจากที่แอลกอฮอล์ถูกเปลี่ยนเป็นอะเซตัลดีไฮด์แล้ว ยีนที่ตับอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ALDH2 จะสร้างเอ็นไซม์ Aldehyde Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนอะเซตัลดีไฮด์ให้กลายเป็นกรดอะซิติก (หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่พบได้ในธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนที่ไม่เป็นอันตราย) กลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ และขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานได้น้อยกว่าคนอื่น) ร่างกายจะย่อยสลายอะเซตัลดีไฮด์ได้ไม่ดี ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ยังคงสะสมอยู่ในเลือด และถูกดูดซึมผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง เซลล์ประสาท กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อร่างกายจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากยีน ADH1C และ ALDH2 ทำงานผิดปกติด้วยกันทั้งคู่
อะเซตัลดีไฮด์ที่ขับออกจากร่างกายไม่หมด จะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ไปนาน ๆ จะทำให้ตับโดนทำลายจนเกิดเป็นอาการ ตับแข็ง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และมะเร็งตับ หากคุณมียีนตัวใดตัวนึง หรือยีนทั้งคู่นี้ผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการดื่ม ไม่เกินวันละ 1 drink หรือเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋องเล็ก
#กินอยู่ดีแพลตฟอร์ม #โภชนพันธุศาสตร์ #ดีเอ็นเอ
ที่มารูป : baytoday