ปัจจัยทางพันธุกรรมอาจส่งผลให้ร่างกายเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอได้ลดลง มากถึงร้อยละ 70
เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) พบมากในพืชโดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสีเหลือง-ส้ม-แดง เช่น แครอท มะเขือเทศ มะละกอ ฟักทอง เมื่อได้รับอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีน (Pro-vitamin) ให้เป็นวิตามินเอ หรือเรตินอล เพื่อนำไปใช้งาน
วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นกลุ่มวิตามินที่จำเป็น ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น วิตามินเอ ละลายได้ในน้ำมัน ต้องอาศัยไขมันในการเปลี่ยนรูปเพื่อให้ผนังลำไส้สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย วิตามินเอเป็นองค์กระกอบสำคัญของโปรตีนที่จุดรับแสงเรตินาในดวงตา ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเยื่อบุตาและกระจกตา ช่วยในการมองเห็น รวมทั้งยังช่วยทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย การขาดวิตามินเอ จะส่งผลให้มีโอกาสในการเกิดอาการตาไม่สู้แสง แสบตา และทำให้น้ำตาไหลได้ง่าย เยื่อบุตาแห้งและอักเสบ อาการโรคตาฟางหรือตาบอดในตอนกลางคืน โรคโลหิตจาง มีสิวเห่อขึ้นเต็มหน้า และผิวหนังแห้งหยาบกร้าน
ร่างกายอาจจะได้รับวิตามินเอโดยตรงจากการรับประทานอาหาร อาทิเช่น เครื่องในสัตว์ น้ำมันตับปลา ไข่แดง เนย นม หรือได้รับเบต้าแคโรทีน จากผักผลไม้สีเหลือง-ส้ม-แดง โดยแปลงให้อยู่ในรูปวิตามินเอ สังเกตด้วยว่า ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติมาเป็นเวลานาน ผนวกกับมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่มียีน BCO1 หรือ BCM01 ผิดปกติ ยีนซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตเอนไซม์ Beta-carotene oxygenase ในการแปลงเบต้าแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอได้น้อยกว่าคนอื่น มากถึงร้อยละ 70 ซึ่งทำให้ระดับวิตามินเอในร่างกายลดต่ำลงอย่างมาก ขณะที่จะมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าคนอื่น จากข้อมูลมนุษยพันธุศาสตร์ มีผู้ที่มียีน BCO1 หรือ BCM01 ทำงานได้น้อยกว่าปกติประมาณร้อยละ 45 ของประชากร
โดยทั่วไป ปริมาณวิตามินเอที่แนะนำให้บริโภคต่อวันจะอยู่ในช่วงระหว่าง 700 – 900 ไมโครกรัม (mcg) สำหรับเพศหญิงและชายที่มีอายุมากว่า 19 ปี และไม่ควรบริโภคเกิน 3,000 mcg ต่อวัน ยกตัวอย่างปริมาณวิตามินเอในอาหาร เช่น ตับหมู ในปริมาณ 100 กรัม จะมีวิตามินเอ 5,000 mcg น้ำมันตับปลา Cod (1,350 mcg) ไข่แดง (500 mcg) นม (20 mcg) ปลาแซลมอล (15 mcg) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวัง เนื่องจากวิตามินเอ ละลายในไขมัน การได้รับวิตามินเอจากอาหารหรืออาหารเสริมในปริมาณที่มากเกินไป ร่างกายจะไม่สามารถขับวิตามินเอที่เกินออกทางปัสสาวะได้ วิตามินเอที่เกินจะสะสมในร่างกายทำให้เป็นพิษต่อตับและส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงความต้องการระดับวิตามินเอที่เหมาะสม เพราะจะส่งผลต่อความสมบูรณ์และพัฒนาการของเด็กในครรภ์
ที่มารูป : wallpaperaccess