โฟเลต เหมือนหรือต่างกับ กรดโฟลิค และความเสี่ยงจากปัจจัยทางพันธุกรรม
โฟเลต (Folate) มาจากคำในภาษาละติน “Folium” แปลว่า ใบไม้ โฟเลตเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ สลายตัวหรือสูญเสียคุณประโยชน์ได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน โฟเลต (วิตามินบี 9) และวิตามินบี 12 มีความสัมพันธ์กันอย่างมากในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกเหรอ และช่วยในการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ โฟเลตมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการแบ่งเซลล์ เช่น การแบ่งเซลล์เพื่อการเจริญเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ ขณะที่วิตามินบี 12 มีความสำคัญต่อการพัฒนาและการทำงานของระบบประสาทและสมอง
การขาดโฟเลต จะส่งผลต่อสภาวะการมีบุตรยากของสตรี รวมถึงความไม่สมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ทารกมีภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เกิดความผิดปกติในการเจริญของระบบประสาท ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออทิสติก ในผู้ใหญ่การขาดโฟเลต จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ โรคจิตเภท ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด มีแนวโน้มในการเกิดโรคหัวใจ โรคต้อหิน และโรคมะเร็งลำไส้
สาเหตุหนึ่งของการขาดโฟเลตมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม โดยที่ยีน MTHFR ที่สร้างเอนไซม์ Methylenetetrahydrofolate Reductase ซึ่งทำหน้าที่แปลงกรดอะมิโนโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) ไปเป็นเมไทโอนีน (Methionine) เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งาน ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น คนที่มียีน MTHFR ทำงานผิดปกติ จะทำให้มีการสะสมของระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูง และส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพโดยรวม โดยทั่วไป เราจะไม่สามารถทราบได้ว่ามียีน MTHFR ทำงานผิดปกติหรือไม่ นอกจากจะมีอาการแสดงออกถึงความผิดปกติทางร่างกายจากการขาดโฟเลตในระดับที่รุนแรง หรือใช้การตรวจโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrition DNA) และการขาดโฟเลตมักจะมีความสัมพันธ์กับการขาดวิตามินบี 12 ด้วยเช่นกัน
โฟเลต นั้นหมายถึงวิตามินบี 9 ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง กรดโฟลิค (Folic acid) โฟเลต สามารถพบได้ตามธรรมชาติในอาหารทั้งผักผลไม้และเนื้อสัตว์ ในขณะที่กรดโฟลิค เป็นวิตามินที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงและมีความสำคัญต่อร่างกายเหมือนกับโฟเลต บริษัทผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่มักจะเพิ่มกรดโฟลิกลงไปในอาหาร เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า อาหารเช้าซีเรียล เพื่อให้ร่างกายได้รับโฟเลตในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ข้อควรสังเกตความแตกต่างกันระหว่างโฟเลตและกรดโฟลิค คือ กรดโฟลิค สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปไปใช้ประโยชน์ได้เร็วและง่ายกว่า ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ขาดหรือผู้ที่ต้องการโฟเลตสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ในทางตรงข้าม การได้รับวิตามินบี 9 สังเคราะห์ ในรูป กรดโฟลิค อาจจะเกิดผลข้างเคียง หรือเกิดภาวะเป็นพิษเนื่องจากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งจะแตกต่างกับ กรณีของโฟเลตที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติ จะผ่านกระบวนการย่อยและเข้าสู่ระบบร่างกาย และมีกลไกการขับปริมาณโฟเลตที่เกินความจำเป็นออกทางปัสสาวะ
ปริมาณโฟเลตที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 19 ปี เท่ากับ 400 ไมโครกรัม (mcg) คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับโฟเลตในปริมาณ 600 และ 500 mcg ตามลำดับ โฟเลตพบมากในพืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว และผลไม้บางชนิด ยกตัวอย่างเช่น ในปริมาณ 100 กรัม ถั่วแระญี่ปุ่น จะมีโฟเลต 300 mcg ถั่วดำ (230) ถั่วเขียว (186) ถั่วลิสง (170) ผักโขม (160) หน่อไม้ฝรั่ง (150) ผักกาดหอม (140) บร็อคโคลี่ (100) กะหล่ำปลี (90) คะน้า (80) ทุเรียน (160) รวมทั้ง ไข่แดง (150) เครื่องในสัตว์ ตับหมู (140) เนื้อไก่ (70) นมสด (10)
สังเกตด้วยว่า งานวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ออกมาโต้แย้งและยังไม่ได้ข้อสรุปกับผลการศึกษาในอดีตว่า แม้ว่าจะพบตำแหน่งการกลายพันธุ์ในยีน MTHFR แต่การทำงานของยีนยังคงสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะรักษาระดับของโฮโมซีสเตอีนในเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งไม่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพใด ๆ ดังนั้น การตรวจพบตำแหน่งกลายพันธุ์ในยีน MTHFR อาจจะใช้แค่เป็นเครื่องมือคัดกรองสุขภาพ Pre-screening เบื้องต้น เท่านั้น ผู้ที่ตรวจพบยีน MTHFR ทำงานผิดปกติ และยังคงมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ จึงไม่ควรต้องวิตกกังวลใด ๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่พบตำแหน่งกลายพันธุ์ของยีน และสังเกตว่าร่างกายมีภาวะผิดปกติในลักษณะการขาดโฟเลต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับโฟเลตจากโฮโมซีสเตอีนในเลือด ในการหาสาเหตุและแนวทางการรักษา ต่อไป
ที่มารูป : gutperformance