กาแฟ – สารต้านอนุมูลอิสระและยีน CYP1A2 ที่ส่งผลต่อร่างกาย
ยังเป็นข้อโต้แย้งถึงประโยชน์ของการดื่มกาแฟที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพดี ช่วยเพิ่มพลัง ความกะปรี้กระเปร่า และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งเสพติดและเป็นโทษต่อร่างกาย
ผลงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า กาเฟอีน (Caffeine) ในกาแฟ นั้นเป็นประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคตับ มะเร็งบางประเภท และอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ เนื่องจากกาเฟอีนนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ และกาแฟนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงได้รับสารอนุมูลอิสระจากการดื่มกาแฟในทุก ๆ วัน โดยไม่รู้ตัว
โดยตลอดช่วงเวลาที่เราตื่นนั้น ร่างกายของเราจะค่อย ๆ ผลิตและสะสมอะดีโนซีน (Adenosine) ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราได้นอนหลับ อะดีโนซีนจะสลายหายไปและทำให้เราสดชื่นหลังจากตื่นขึ้นมา และเมื่อเราดื่มกาแฟ กาเฟอีนจะเข้าไปบล็อกการทำงานของอะดีโนซีน แต่ไม่ได้บล็อกการสะสมของอะดีโนซีน หรือกำจัดอะดีโนซีนออกไป ซึ่งหมายความว่า เมื่อกาเฟอีนที่อยู่ในร่างกายมีเหลืออยู่ปริมาณน้อยหรือมีฤทธิ์อ่อนลง อะดีโนซีนที่สะสมไว้เรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราง่วงและอยากจะนอนหลับพักผ่อน
ผลการศึกษาทางด้านโภชนพันธุ์ศาสตร์ พบว่า ยีน CYP1A2 ในโครโมโซมคู่ที่ 15 ส่งผลต่อกลไกการทำงานของกาเฟอีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยตรง (Caffeine Sensitivity หรือ Caffeine Intolerance) โดยยีนดังกล่าวจะทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ในการย่อย (Metabolize) กาเฟอีน ซึ่งการกลายพันธุ์ของยีน CYP1A2 อาจจะเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) การย่อยกาเฟอีนที่เร็วเกินไป (Fast metabolizer) และ 2) การย่อยกาเฟอีนที่ช้าเกินไป (Slow metabolizer) การกลายพันธุ์ของยีนในลักษณะแรก ส่งผลให้ทำไมบางคนดื่มกาแฟแล้วยังรู้สึกง่วงนอน และต้องการกาเฟอีนในปริมาณมากกว่าปกติเพื่อให้เกิด Effect ที่ต้องการ เช่น ดื่มกาแฟ 3-4 แก้วต่อวัน จากข้อมูลมนุษยพันธุศาสตร์ จะมีประชากร ประมาณร้อยละ 10 ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนในลักษณะย่อยกาเฟอีนที่เร็วเกินไป (หรือพบได้ 1 ใน 10 คน) ในทางตรงกันข้าม การย่อยกาเฟอีนที่ช้าเกินไป โดยยีนที่สร้างเอนไซม์ย่อยกาเฟอีน ย่อยได้ช้า ทำให้กาเฟอีนสะสมอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ และการที่กาเฟอีนสะสมอยู่ในร่างกายในระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และนอนไม่หลับ รวมทั้งส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ
นอกจากนี้ บางคนอาจจะมีอาการแพ้กาเฟอีน (Caffeine Allergy) ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก และมีสาเหตุมาปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่พันธุกรรม (ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด) การแพ้กาเฟอีนเกิดจากการที่ร่างกายมองว่ากาเฟอีนเป็นสารอันตราย ระบบภูมิคุ้มกันจึงพยายามกำจัดกาเฟอีนออกจากร่างกายด้วยการหลั่งสารเคมี (Antibody) ต่าง ๆ เมื่อสารเคมีเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นแดงคัน ลมพิษ คัดจมูก น้ำมูกไหล ตาบวมแดง ผิวหนัง คอ ลิ้น และริมฝีปากบวม ในบางกรณี ผู้ที่แพ้กาเฟอีนระดับที่รุนแรง แค่ได้กลิ่นกาแฟก็อาจจะเกิดอาการเวียนหัวหรือปวดหัวได้
ข้อแนะนำสำหรับคนทั่วไปในการดื่มกาแฟ หรือได้รับกาเฟอีน ในปริมาณที่ปลอดภัย ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัม ต่อวัน (เทียบเท่ากับ การดื่มกาแฟ 4 แก้ว) และผู้ที่มียีนที่ย่อยกาเฟอีนได้ช้า ควรจะหลีกเลี่ยงการบริโภคกาเฟอีน หรือจำกัดการบริโภคให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม (หรือดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน) สำหรับผู้ที่แพ้กาเฟอีน ควรงดบริโภคกาเฟอีนทุกรูปแบบ และควรปรึกษาแพทย์
สังเกตด้วยว่า องค์กรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเราดื่มกาแฟ กาเฟอีนที่อยู่ในร่างกายยังคงออกฤทธิ์และจะมีปริมาณลดลงครึ่งนึงหลังจากที่บริโภคเข้าไปเมื่อเวลาผ่านไป 5 ชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราดื่มกาแฟ 1 แก้ว (100 มิลลิกรัม) หลังจาก 5 ชั่วโมง จะมีปริมาณกาเฟอีนในร่างกายเหลืออยู่ 50 มิลลิกรัม ส่วนที่เหลือครึ่งนึงอาจจะต้องใช้เวลาในการกำจัดออกจากร่างกายมากกว่า 5 ชั่วโมง และสำหรับผู้ที่แพ้กาเฟอีน อาจจะคงมีอาการที่ไม่พึงประสงค์นานอยู่หลายชั่วโมง หรือมากถึง 1- 2 วัน ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ควรจะดื่มกาแฟ รวมทั้งอาหารที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ (เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม ชาเขียว ช็อกโกแลต เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มให้พลังงาน) อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เพื่อให้ร่างกายได้นอนหลับสนิท
ที่มารูป : paramountcoffee