Alzheimer’s & preventive healthcare

โรคอัลไซเมอร์ กับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

คำบอกจากแม่ กินปลาแล้วฉลาด นั้นอาจจะถูกต้องแล้ว – เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐได้รายงานผลการศึกษาโดยใช้อาสาสมัครจำนวน 7,750 คน และติดตามผลการศึกษาเป็นระยะ 5 – 10 ปี พบว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานปลา เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด (รองลงมาคือ อาหารจำพวกผัก) ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม และควรรับประทานปลาในมื้ออาหาร จำนวนหลาย ๆ ครั้งต่อสัปดาห์

แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ มักจะเกิดกับคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสื่อมของสมองได้เกิดขึ้นหลายปีก่อนหน้านั้น สิ่งที่ทำให้โรคอัลไซเมอร์รักษายากเป็นเพราะมันแสดงอาการช้า โรคนี้จะสร้างความเสียหายแก่สมองเป็นเวลากว่า 10 ปีก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ นอกจากนี้ จากสถิติทั่วโลกยังพบว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะเสียชีวิตหลังเป็นเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี ดังนั้น การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถป้องกันได้ หากคนเราหันมาดูแลสมองกันมากขึ้น

การออกกำลังกายสมอง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน

    • การฝึกสมองในด้าน ความทรงจำ (Memory)
    • การฝึกสมองในด้าน การใช้เหตุผล (Reasoning)
    • การฝึกสมองในด้าน ความเร็วในการคิด (Speed of processing information)

การฝึกการใช้สมองในแต่ละด้านนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่สำคัญ คือ การฝึกให้สมอง Active อยู่ตลอด และฝึกใช้สมองในเรื่องที่ท้าทาย โดยอาจเริ่มจากการฝึกใช้สมองในรูปแบบการทำงานย้อนกลับ (Backward activity) ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ใช้มือที่ไม่ถนัดจับช้อนรับประทานอาหาร ใช้เม้าส์หรือทัชแพดบนโน้ตบุ๊คโดยใช้มือที่ไม่ถนัด ใส่นาฬิกาข้อมือสลับข้าง และการเดินหรือวิ่งถอยหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ การลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม ยังสามารถทำได้โดยการฝึกสมองในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น

    • การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อาทิ การเล่นดนตรี กีฬา หรือเรียนรู้ภาษาใหม่
    • การเล่นเกมที่ถูกออกแบบมาสำหรับการฝึกสมอง เช่น Lumosity และเกมที่มีผู้เล่นหลายคน
    • การเล่นต่อคำ ต่อภาพ Puzzles ในรูปแบบต่าง ๆ
    • การเขียนชุดคำสั่ง หรือป้อนคำสั่งคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Coding)
    • การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสมอง

การกระตุ้นให้สมองเกิดการใช้งานอยู่อย่างสม่ำเสมอและฝึกฝนในเรื่องท้าทาย จะช่วยลดความเสื่อมของเซลล์สมอง สร้างเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ และช่วยการทำงานของเซลล์สมองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ดีต่อสุขภาพหัวใจก็ดีต่อสมองด้วย – การออกกำลังกายที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic exercise) จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่สมองได้มากขึ้น ซึ่งช่วยในด้านความทรงจำและทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นด้วย รวมทั้งยังช่วยลดความเครียดและช่วยปรับฮอร์โมนต่าง ๆ ของร่างกายให้สมดุล และจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 30%

การตรวจโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์

นอกจากผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมที่แสดงอาการค่อนข้างชัดเจนแล้ว ปัจจุบัน มีวิธีการตรวจโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1) การตรวจดีเอ็นเอ เพื่อใช้ประเมินระดับความเสี่ยง วางแผนการป้องกัน ความถี่ในการตรวจคัดกรอง การเฝ้าระวัง และการแนะนําการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หากพบว่ามีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่ง เช่น rs7412  และ rs63750730 ในยีน APOE ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Apolipoprotein E จะมีความเสี่ยงให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอัลไซเมอร์เป็นกรรมพันธุ์ที่มีการถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมนี้จะเกิดโรคทั้งหมด เนื่องจากยังมีปัจจัยเชิงพฤติกรรม (Lifestyle) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของสมองได้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟู การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ระยะเวลานอนหลับลึกน้อยกว่า 4-5 ชั่วโมงต่อวัน โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคอ้วน และโรคเบาหวาน (Type2 diabetes) จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป

2) การตรวจวัดเบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ในเลือด ซึ่งเป็นคราบเหนียวของโปรตีนที่ผิดปกติ (Amyloid plaques) ที่ไปเกาะอยู่บนเซลล์ประสาทของสมองและทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ชุดตรวจโรคอัลไซเมอร์ด้วยเลือดชนิดนี้ จะช่วยในการคัดกรองผู้คนเพื่อตรวจหาโรคได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวยังต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาแพง มีใช้เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และแปลผล

3) การทำเพทสแกน (PET scan) หรือการสแกนด้วยรังสีเพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมอง และการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap) เพื่อตรวจดูภาวะผิดปกติของโรคอัลไซเมอร์ที่มีความแม่นยำมากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายสูง และมีความเจ็บปวด

ยารักษาโรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ ถูกค้นพบเมื่อปี 1906 เป็นโรคอย่างหนึ่งที่มีการทำลายเซลล์สมองไปเรื่อย ๆ มีอุบัติการณ์ตามอายุที่มากขึ้น ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษา แต่มีการรักษาที่สามารถชะลอการลุกลามของโรค

ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ตัวใหม่ – ในเดือน กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ  ได้อนุมัติการใช้ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ทีมีชื่อว่า “Leqembi” ซึ่งเป็นยากลุ่ม “เลเคนเนแมป” (Lecanemab) เป็นแอนติบอดีที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดคราบเหนียวของโปรตีนพิษ (Amyloid plaques) ด้วยการผูกแอนติบอดีเทียมเข้ากับตัวโปรตีน และผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ในทุกสองสัปดาห์โดยฉีดเข้าเส้นเลือดดำ อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าว ยังคงมีราคาสูงซึ่งประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง ยังถูกอนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเพียงเล็กน้อย ที่ได้รับการยืนยันว่ามีโปรตีนอะไมลอยด์ในสมอง เท่านั้น รวมทั้งยังเป็นเพียงยาชะลออาการความจำเสื่อมของสมอง ยังไม่ใช่วิธีรักษาให้หายขาดได้

ที่มารูป : Psycompro