มีไขมันดี (HDL) สูงกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลร้ายต่อสุขภาพหรือไม่?
เราได้ยินมาเสมอว่า เราควรจะมีค่าไขมันเลว (LDL) ต่ำ และมีค่าไขมันดี (HDL) สูง ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี ค่า HDL น้อยกว่า 40 mg/dL จะส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ค่า HDL สูงกว่า 60 เป็นค่าถูกพิจารณาว่าส่งผลดีต่อสุขภาพมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่มี HDL ที่สูงกว่า 90 mg/dL จะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ปัจจัยพันธุกรรม การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) มากเกินไป การขาดสารอาหาร การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางประเภท และการดื่มแอลกอฮอล์
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นโครงสร้างของผนังเซลล์ และส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนที่สำคัญ อาทิเช่น เอสโตรเจน และเทสโทสเตอโรน สร้างวิตามินดีและน้ำดีสำหรับการย่อยไขมันในอาหาร โดยทั่วไปร่างกายสามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้เองจากตับและลำไส้ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหาร คอเลสเตอรอลพบมากในกลุ่มอาหารที่มาจากสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลบางชนิด ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงกว่าปกติ ก่อให้เกิดการเกาะตามผนังของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยปกติร่างกายสามารถรักษาความสมดุลของคอเลสเตอรอลให้คงที่อยู่เสมอ หมายความว่า เมื่อทานอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์มาก ตับจะลดการสร้างคอเลสเตอรอลลง และเมื่อทานอาหารกลุ่มพืชมาก ตับจะสร้างคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ
-
- คอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Lipoprotein: LDL) ทำหน้าที่ในการขนส่งคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการผลิตฮอร์โมน หรือสร้างผนังเซลล์ หากมีปริมาณเกินความต้องการของร่างกาย จะเกิดการเกาะตามผนังหลอดเลือดแดง ก่อให้เกิดการตีบของหลอดเลือดแดง และเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงเรียก LDL ว่า “ไขมันไม่ดี/ไขมันร้าย”
- คอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นสูง (High-Density Lipoprotein: HDL) ทำหน้าที่ในการดึงคอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี จึงเรียก HDL ว่า “ไขมันดี”
ระดับกลุ่มไขมันต่าง ๆ ตามข้อแนะนำ
-
- Total cholesterol (คอเลสเตอรอลรวม) ต่ำกว่า 200 mg/dL
- LDL ต่ำกว่า 130 mg/dL
- HDL ผู้ชาย สูงกว่า 40 และผู้หญิง สูงกว่า 50 mg/dL
รายงานผลการศึกษาเป็นที่ชัดเจนว่า Total cholesterol และ LDL ที่สูงกว่าเกณฑ์เป็นผลโดยตรงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และระดับ HDL ที่ต่ำกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฯ ดังนั้น ตามคำแนะนำและความเข้าใจที่มีมานานได้มีการสนับสนุนให้เพิ่ม HDL เพราะเป็นไขมันที่ดี ช่วยลด LDL และยังส่งผลต่อคอเลสเตอรอลรวมที่ลดลง หน้าที่ของ HDL คือดึง Cholesterol (Cholesteryl ester) ส่วนเกินออกจากเซลล์ไปทำลายที่ตับ ในกระบวนการ Reverse cholesterol transport (RCT) ซึ่งใช้ Cholesterol ester transfer protein (CETP) เป็นตัวลำเลียง โดยนำคอเลสเตอรอลจาก HDL แลกเปลี่ยนกับไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ใน LDL จึงเกิดความพยายามศึกษาเกี่ยวกับ CETP inhibitor เพื่อเพิ่ม HDL ในเลือด ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้
นอกจากนี้ จากผลจากการวิจัย ความสัมพันธ์ของ HDL กับอัตราการตายมีนัยสำคัญเป็นรูปตัว U หมายความว่า อัตราการตายจะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับ HDL ต่ำและสูงเกินไป (HDL สูงกว่า 90 ml/dL) และ HDL ที่สูงไม่ได้เป็นผลต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด อาทิเช่น การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และการเสียชีวิตอื่น ๆ และยังกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และหลอดเลือด
การสนับสนุนให้เพิ่ม ด วสาเหตุทางพันธุกรรมที่ทำให้ HDL สูง คือการเปลี่ยนแปลงของยีน CETP LIPC และ LIPG จากการศึกษาในคนไทยที่รวบรวมคนไข้ที่มี HDL สูง (มากกว่า 100 mg/dL) พบว่า 1/4 มียีน CETP และ LIPC ผิดปกติ รายงานจากการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า ระดับ HDL สูงจากสาเหตุทางพันธุกรรม ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจลดลง เช่นเดียวกับระดับ HDL ต่ำจากสาเหตุทางพันธุกรรม ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดมากขึ้นเสมอไป
กล่าวโดยสรุป การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เราควรจะมีค่าระดับไขมันทั้ง คอเลสเตอรอลรวม LDL และ HDL อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ค่า HDL ที่สูง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิเช่น พันธุกรรม การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) มากเกินไป การขาดสารอาหาร การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางประเภท และการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังพบว่า ค่า HDL ที่สูงมาก เป็นปัจจัยที่เป็นไปได้ต่อการเกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ดังนั้น สำหรับผู้ที่มี HDLที่มากกว่า 90 mg/dL ควรปรึกษาแพทย์เพื่อสาเหตุและแนวทางแก้ไข
ที่มารูป : healthing.ca