การชะลอวัยกับเมนูอาหารต้านอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระ (Free radical) เป็นสารไม่เสถียรที่ไวต่อปฏิกิริยาออกซิเดชัน หรือเข้าใจอย่างง่ายคือ การเกิดสนิมของเหล็ก หรือกลิ่นหืนของน้ำมันพืช เป็นต้น เช่นเดียวกับในร่างกาย เปรียบเสมือนร่างกายสะสมสนิมเป็นเวลานานทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เสื่อมสภาพลง หรือเกิดการอักเสบ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) คือ สารที่ปกป้องหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของอนุมูลอิสระ (ตัวร้าย) โดยเข้าไปแย่งที่จับกับอนุมูลอิสระให้เสถียรหรือให้เป็นกลาง และคืนความสมดุลให้ร่างกาย เพื่อปกป้องการทำลาย หรือยับยั้ง และยุติลูกโซ่การเกิดอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุของการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ การเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง และการมีริ้วรอยมากขึ้นหรือแก่เร็ว สารต้านอนุมูลอิสระมีความสำคัญต่อการปกป้องเซลล์จากอันตราย (อนุมูลอิสระ) ที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ จากกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงมลพิษรอบตัว และการบริโภคอาหาร ดังนั้น สารต้านอนุมูลอิสระจึงจำเป็นกับทุกเพศทุกวัย ถึงแม้ร่างกายสามารถสร้างได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับที่มาจากมลพิษรอบด้านที่มีแนวโน้มมากขึ้นทุกวัน เช่น ปัญหาฝุ่น ควัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มเติมจากการรับประทานอาหาร เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นกับสารต้านอนุมูลอิสระ ประโยชน์จากการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ
-
- ลดอนุมูลอิสระในร่างกาย
- ชะลอการเสื่อมของเซลล์
- ลดริ้วรอยจากการป้องกันออกซิเดชันของเซลล์ผิวหนัง
- ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น
- เป็นเกราะป้องกันมลพิษต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น รังสี UV ฝุ่น ควันรถ ควันบุหรี่ เป็นต้น
เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายสะสมอนุมูลอิสระมากขึ้น แต่จะสร้างสารต้านอนุมูลอิสระน้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะความเสื่อมสภาพของผิวหนัง ซึ่งเป็นไปตามวัยและปัจจัยภายนอกที่เร่งผิวให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น เช่น แสงแดด มลภาวะ ฝุ่นควัน สูบบุหรี่ ความเครียด ซึ่งมากกว่า 60% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และอีก 40% มาจากปัจจัยทางพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม จากผลงานวิจัยพบว่า การควบคุมการบริโภคอาหารให้ลดลง 20 – 30% สามารถช่วยลดความเสื่อมของร่างกายและชะลอวัยได้ การควบคุมการการบริโภคอาหารที่ลดลง ส่งผลให้ระดับอินซูลินและอุณหภูมิร่างกายลดลง ซึ่งเป็นผลจากการลดการเกิดอนุมูลอิสระจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolism) และนำไปสู่การอักเสบที่ลดลงด้วย หรือที่คุ้นเคยกันว่า “กินน้อยแก่ช้า กินมากแก่เร็ว”
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) พบได้ในพืชผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพืชผักสีเข้ม และผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักเคล กวางตุ้ง ฟักทอง ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก มะเขือเทศ เป็นต้น ซึ่งประกอบไปด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิดที่มีความโดดเด่น เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เซเลเนียม ฟวาโวนอยด์ กลูต้าไธโอน แคโรทีนอยด์ และเบต้า/แคโรทีน เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดมีหน้าที่แตกต่างกัน เช่น
-
- วิตามินซี: เป็นสารต้านอนุมูลอสระที่ไซโตพลาสซึม
- วิตามินอี: เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เมมเบรน (เยื่อหุ้มเซลล์)
- กลูต้าไธโอน: ป้องกันอันตรายที่ไซโตพลาสซึมและเมมเบรน
ตัวอย่างอาหารที่พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง
อาหาร | ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (mmol/100 g) |
ดาร์กช็อกโกแลต | 15 |
ถั่วพีแคน | 10.6 |
บลูเบอร์รี่ | 9.2 |
สตรอว์เบอร์รี่ | 5.4 |
ราสเบอร์รี่ | 4 |
ผักเคล | 2.7 |
กะหล่ำปลีม่วง | 2.2 |
แม้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะเป็นประโยชน์มากมาย แต่การได้รับที่มากเกินไปก็สามารถเกิดอันตรายได้ เช่น จากผลงานวิจัยพบว่า การได้รับ วิตามินอี ที่มากเกินไป (มากกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อวัน) สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคหลอดเลือดสมองได้ หรือการได้รับ เบต้า/แคโรทีนที่มากเกินไปในผู้ที่สูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดสูงขึ้น โดยทั่วไป การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดที่มากเกินไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริโภคอาหารเสริม ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มาจากธรรมชาติ เช่น พืช ผักผลไม้ หรือควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระในรูปแบบอาหารเสริม
ความหลากหลายของเมนูอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เราไม่เคยทราบถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับต่อวัน และอาหารแต่ละอย่างก็ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด “KinYooDee” เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสามารถติดตามสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ ที่สนใจได้ ทำให้บุคคลทราบถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี หรือ วิตามินอี ที่ได้รับในแต่ละวัน หรือภายในช่วงเวลา (1 สัปดาห์) ว่าขาดหรือเกิน ตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน KinYooDee ยังช่วยแนะนำเมนูอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ควรรับประทานอีกด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพ