Personalized nutrition

โภชการส่วนบุคคล – ในหลักการที่ว่า มนุษย์แต่ละคนมีความสามารถในการเผาผลาญอาหาร (Metabolism) และดอบสนองต่อสารอาหารแตกต่างกัน ทำให้แขนงสาขาโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics) ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โภชนพันธุศาสตร์ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ยีน โภชนาการ และสุขภาพ ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยวิเคราะห์ว่า สารอาหาร ส่งผลกระทบต่อ ยีนอย่างไร หรือ ปฏิกริยาของยีนต่อสารอาหารบางชนิด และทำไมร่างกายของบางคน มีปัญหาในด้านการขับสารพิษ หรือ ปัญหาด้านการเผาผลาญอาหาร

ความสัมพันธ์ระหว่าง ดีเอ็นเอ ยีน และสารอาหาร?
เนื่องจากยีนบางกลุ่ม (ร่างกายของมนุษย์มีโครโมโซม 23 คู่, ยีน 30,000 ยีน และดีเอ็นเอ 3,000 ล้านคู่สาย โดยประมาณ) ส่งผลต่อการโพรเซสอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การแพ้น้ำตาลแล็กโทส หรือความสามารถในการเผาผลาญแอลกอฮอล์และกาเฟอีน ที่แตกต่างกันในแต่ละคน ในปี (2016) การศึกษาเรื่อง ความชอบดื่มกาแฟมีผลมาจากดีเอ็นเอของแต่ละคนหรือไม่? ผลการศึกษาพบว่า ยีนที่มีชื่อว่า PDSS2 แสดงบทบาทที่สำคัญในการเผาผลาญกาเฟอีน อย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มคนที่มีการแสดงออกของยีน (Gene expression) PDSS2 มาก จะดื่มกาแฟได้ในปริมาณที่น้อยกว่า โดย ยีน จะเผาผลาญกาเฟอีนได้ค่อนข้างช้า ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่มีการแสดงออกของยีน PDSS2 ไม่ต้องการสารกาเฟอีนในปริมาณมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้รับกาเฟอีน ในปริมาณเล็กน้อย ก็อาจจะเกิดอาการใจสั่น (Awake) หรือนอนไม่หลับ

การศึกษาเรื่อง การแพ้สารอาหาร (Nutrient intolerance) ยกตัวอย่างเช่น การแพ้น้ำตาลแล็กโทส ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณเอนไซม์ Lactase ในลำไส้เล็กที่ลดลง อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น การติดเชื้อ หรือการอักเสบที่ลำไส้ ผลการวิจัย ในปี (2018) ได้ชี้ให้เห็นว่า ยีน LCT ซึ่งแสดงบทบาทที่สำคัญในการย่อยน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นม เมื่อตำแหน่งของดีเอ็นเอภายในยีนมีการเปลี่ยนแปลงไป (Mutate) จะส่งผลทำให้เกิดการแพ้แล็กโทส

นอกจากนี้ การขาดสารอาหาร (Nutrient deficiency) อาจบ่งชี้ได้จากยีนของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น การขาดโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิด โรคอัลไซเมอร์ (AD) โรคไขมันพอกตับ (NAFLD) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD) ในการศึกษาพบว่า การแสดงออกของยีน APOE4, PPAR-a และ APOA1 มีความสัมพันธ์ของการเกิดโรคดังกล่าว ตามลำดับ ซึ่งทำให้นักวิจัยอนุมานได้ว่า กลุ่มคนที่มียีนผิดปกติเหล่านี้ มีความต้องการโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

สังเกตด้วยว่า ปัจจุบัน การทดสอบหาระดับสารอาหารในร่างกาย อาทิเช่น สังกะสี วิตามินดี แมกนีเซียม เซเลเนียม รวมทั้ง โอเมก้า 3 ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งทำให้การกำหนดโภชนาการส่วนบุคคล ทำให้โดยง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในอีกทางหนึ่ง การทดสอบยีน หรือดีเอ็นเอ จะมีประโยชน์ในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น การแพ้และสาเหตุของการแพ้อาหารบางประเภท ซึ่งในทางการแพทย์ปัจจุบัน ยังเป็นความลับที่ยังไม่ได้ถูกเปิดเผย

ดังนั้น ความรู้ทางด้านโภชนพันธุศาสตร์ การศึกษาของ ยีน ดีเอ็นเอ ฮอร์โมน รวมทั้ง แบคทีเรียในลำไส้ สามารถช่วยตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ อุปนิสัย การรับประทานอาหาร ให้มีความเหมาะสมในแต่ละบุคคลได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย ลดอาหารหวาน เค็ม ไขมัน การรับประทานผักผลไม้ ออกกำลังกาย และพักผ่อนเพียงพอ ยังคงเป็นคำแนะนำที่ทรงคุณค่าสำหรับโภชการที่ดีสำหรับทุกคน

ที่มารูป: marketwatch.com