Salt Taste Receptor

เคยสงสัยว่าทำไม บางคนจึงทานอาหารรสเค็มมากกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากยีน

มนุษย์เราสามารถรับรสได้ 5 รส ได้แก่ หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม (และอูมามิ) โดยที่ รสเค็ม มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด คนไทยติดเค็มจากวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรัง ซึ่งต้องรักษาต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2564 คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน  และมีแนวโน้มว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15 – 20% ต่อปี (ข้อมูลจาก DBMS Wellness) ความชอบในการรับประทานอาหารรสเค็ม มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1) ความชอบรับประทานอาหารรสเค็มเกิดจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่เรารับรู้เสมอว่า อาหารนั้นมีรสเค็ม (อร่อยพอดี) และเกิดเป็น “พฤติกรรมความชอบ หรือระดับความเค็มที่ชอบ (Bliss point)” จากผลสำรวจพฤติกรรมการกินของคนไทย คนไทยเลือกกินอาหารด้วยปัจจัยความชอบมากที่สุด รองลงมาคือ รสชาติ และความอยาก (ข้อมูลจาก EIC 2560)

2) ความชอบรสเค็มโดยไม่รู้ตัว ที่มีสาเหตุมาจากยีน SCNN1B และ/หรือ TRPV1 ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะติดรสเค็มได้มากกว่าคนอื่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องรับประทานเกลือในปริมาณที่มากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะให้ได้รสเค็ม หรือระดับความเค็มที่ชอบ ที่เท่ากัน

การลดการติดเค็มที่เกิดจากพฤติกรรม สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยง หรือลดการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มลงทีละน้อย อย่างต่อเนื่อง (ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เราสามารถลดปริมาณความเค็มลง 10- 15% โดยไม่สามารถสังเกตถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป) สมองจะถูกฝึกฝนให้เกิดความชอบอาหารที่มีรสเค็มลดลง จนกระทั่ง เราจะมีความชอบ หรือ Bliss point ต่อรสเค็มลดลง ในที่สุด

คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เรามีความชอบรสเค็มที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม … นอกจากการตรวจ #โภชนพันธุศาสตร์ ที่เป็นการวิเคราะห์ปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหาร (โซเดียม) กับลักษณะทางพันธุกรรมแล้ว เราสามารถทำการทดลองง่าย ๆ โดยสอบถามเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารเพื่อหาระดับความเค็มที่ชอบของเราว่ามีความแตกต่างกับเพื่อนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้เครื่องวัดความเค็มในอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งอยู่ในระดับความเค็มที่เราชอบ (เรารู้สึกว่ามันเค็มกำลังดี ไม่น้อยไป หรือเค็มมากไป) และใช้เครื่องวัดความเค็ม ได้ปริมาณโซเดียม มากกว่า 0.9 % (ซึ่งสูงกว่าปริมาณโซเดียมในเลือด) แสดงว่าเราติดรสเค็ม และถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม การติดรสเค็มของเราอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม

การติดรสเค็มนอกจากจะทำให้เกิดโรคโรคไตเรื้อรังแล้ว ยังก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา อาทิเช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลิกรัมต่อวัน หรือเกลือป่นไม่เกิน 1 ช้อนชา (หรือ 5 กรัม) โดยให้หลีกเลี่ยงการได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไปจากพฤติกรรมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงผงปรุงรส ผงชูรส น้ำจิ้ม อาหารแปรรูป/หมักดอง ลดการรับประทานอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุป รวมทั้งอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง โดยดูที่ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

การรับรสเค็ม – Salt Taste Receptor

ที่มารูป: insider

Vitamin D and Calcium

ท่านทราบหรือไม่ว่า … ภาวะการขาดวิตามินดี ร่างกายจะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงร้อยละ 10 -15 ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง

วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมวลกระดูก การขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขาดแคลเซียม ส่งผลให้เกิดสภาะกระดูกพรุน รวมทั้ง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองอุดตัน โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

เมื่อพิจารณาด้านพันธุศาสตร์ ปัจจัยทางพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อสภาวะการขาดวิตามินดีค่อนข้างน้อย โดยมียีน GC ที่สร้างโปรตีนจับวิตามินดี (Vitamin D-binding protein) ทำหน้าที่จับวิตามินดีในกระแสเลือด จากนั้นจึงนำวิตามินดีเข้าสู่กระบวนการเมตาบอลิซึมเพื่อดูดซึมแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากท่านมียีน GC ทำงานผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดสภาวะการขาดวิตามินดี มากกว่าคนทั่วไป “ถ้าร่างกายขาดวิตามินดี จะทำให้กระบวนการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ได้เพียงร้อยละ 10 – 15 จากอาหารที่รับประทานเข้าไป” นอกจากนี้ วิตามินดียังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสายเปปไทด์ต้านจุลชีพในการป้องกันการติดเชื้อโรคบางกลุ่ม อาทิเช่น โรคติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ในแต่ละวัน ร่างกายควรได้รับวิตามินดี อย่างน้อย 15 – 20 ไมโครกรัม (หรือ 400 – 800 IU) การรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ น่าจะเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินดี หรือเกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูงจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับวิตามินดีจากอาหารเสริม (ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์) อย่างไรก็ตาม สังเกตด้วยว่า โดยปกติ ร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายนั้นได้มาจากการสังเคราะห์รังสี UVB ที่ผิวหนัง การได้รับวิตามินดีจากแสงแดด หรือ “Sunshine vitamin” วิตามินดีจะสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานกว่าวิตามินดีที่ได้จากการรับประทานอาหาร 2 -3 เท่า และจะไม่เกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูง เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการสลายวิตามินดีส่วนเกินที่สังเคราะห์จากทางผิวหนังออกไป

ในประเทศเขตร้อน (ประเทศไทย) วิตามินดีจะถูกสังเคราะห์ได้ดีที่สุดในช่วงเวลา 10:00 – 15:00 ของวัน ในข้อแนะนำทั่วไป ร่างกายควรได้รับแสงแดด เป็นเวลาอย่างน้อย 20 – 30 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระดับโคเลสเตอรอลในชั้นผิวหนังของแต่ละบุคคลที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี และปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เมฆ หรือฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของรังสี UVB ในแสงแดด ถูกกรองเหลือเพียงแค่ 40 – 50% ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อกลไลการสังเคราะห์วิตามินดี

สิ่งที่เป็นข้อกังวลเรื่อง วิตามินดีกับสุขภาพ คือ สภาวะการขาดวิตามินดี จะสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกรณีการขาดวิตามินดี ที่ไม่อยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน และโรคร้ายแรงอื่น ๆ เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น โดยที่การรักษาทำได้ค่อนข้างยาก ผู้ที่มีความใส่ใจด้านสุขภาพ อาจจะใช้วิธีกรณีเลวร้ายสุด (Worst case) โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพียงพอ ประกอบกับทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส หรือการตรวจวัดระดับวิตามินดีในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมในระยะเริ่มต้น

ที่มารูป : movementality

Thamturakit x Kinyoodee

ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม ” ปลูก ” x กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม ” จัดส่ง ” ผักผลไม้ ไข่ไก่ ประมงพื้นบ้าน ปราศจากสารเคมี จากเครือข่ายศิษย์ยักษ์กะโจน ทั่วประเทศ

Alcohol Flush

ดื่มแอลกอฮอล์แล้วหน้าแดงเลือดฝาด คิดว่าเลือดลมสูบฉีดดี … เป็นความเชื่อที่ผิด !

เมื่อเหล้าไหลลงคอนักดื่มแล้ว แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านกะเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเลือดที่มีแอลกอฮอล์ไหลผ่านไปที่ตับ ยีนที่มีชื่อว่า ADH1C ที่อยู่ที่ตับ จะสร้างเอนไซม์ Alcohol Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นสารอะเซตัลดีไฮด์ คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานมากกว่าคนอื่น) เวลาดื่มเหล้า ร่างกายจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นอะเซตัลดีไฮด์ได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ในเลือดเพิ่มสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง หรือมีผื่นแดงขึ้นที่ตามลำตัว ใจสั่น หายใจสั้น ปวดหัว

หลังจากที่แอลกอฮอล์ถูกเปลี่ยนเป็นอะเซตัลดีไฮด์แล้ว ยีนที่ตับอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ALDH2 จะสร้างเอ็นไซม์ Aldehyde Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนอะเซตัลดีไฮด์ให้กลายเป็นกรดอะซิติก (หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่พบได้ในธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนที่ไม่เป็นอันตราย) กลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ และขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานได้น้อยกว่าคนอื่น) ร่างกายจะย่อยสลายอะเซตัลดีไฮด์ได้ไม่ดี ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ยังคงสะสมอยู่ในเลือด และถูกดูดซึมผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง เซลล์ประสาท กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อร่างกายจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากยีน ADH1C และ ALDH2 ทำงานผิดปกติด้วยกันทั้งคู่

อะเซตัลดีไฮด์ที่ขับออกจากร่างกายไม่หมด จะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ไปนาน ๆ จะทำให้ตับโดนทำลายจนเกิดเป็นอาการ ตับแข็ง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และมะเร็งตับ หากคุณมียีนตัวใดตัวนึง หรือยีนทั้งคู่นี้ผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการดื่ม ไม่เกินวันละ 1 drink หรือเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋องเล็ก

#กินอยู่ดีแพลตฟอร์ม #โภชนพันธุศาสตร์ #ดีเอ็นเอ

ที่มารูป : baytoday

Nutrition DNA Test

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม พัฒนาโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมโภชนพันธุศาสตร์บนแพลตฟอร์มกินอยู่ดี” โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ในโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ รายงานผลการทดสอบโภชนพันธุศาสตร์ (DNA test for nutrition and diet) บนแพลตฟอร์มกินอยู่ดี ศึกษาประสบการณ์ของกลุ่มตัวอย่างเพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพตนเอง รวมทั้ง การประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันกินอยู่ดี – KinYooDee App เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชากรไทย

ที่มารูป : wellnessdoctorrx

Nutrigenomics

โภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics) เป็นการศึกษาปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารกับลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งอาศัยการตรวจดีเอ็นเอในตำแหน่งต่าง  ๆ ในการตอบสนองของร่างกายต่อสารอาหาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการโภชนาการอาหาร การวางแผนการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพองค์รวม หัวข้อด้านล่างเป็นตัวอย่างการทดสอบพันธุกรรม ที่อาจมีอิทธิพลต่อสารอาหารของแต่ละบุคคล และ เหตุผลว่าทำไม ? การตรวจโภชนพันธุศาสตร์ จึงมีความสำคัญ

  • การตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ (Alcohol Flush)

การแพ้แอลกอฮอล์ นอกจากจะทำให้เกิดอาการหน้าแดงหรือมีผื่นขึ้นที่ตามลำตัวแล้ว ผู้ดื่มแอลกอฮอล์อาจจะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ และง่วงนอน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่ไม่สามารถจัดการสารอะซิทัลดีไฮด์ที่มีอยู่ในแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายได้เร็วเท่าที่ควร หากท่านมีพันธุกรรมนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการบริโภค เนื่องจากอะซิทัลดีไฮด์จะเก็บสะสมอยู่ที่ตับ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

  • ความอยากอาหาร (Appetite)

แต่ละบุคคลจะมีพันธุกรรมที่ตอบสนองต่อความอยากอาหารต่างกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่ช่วยส่งเสริมความอยากอาหาร ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ดังนั้น ควรปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตลง

  • เบต้าแคโรทีน/ วิตามินเอ (Beta-Carotene/ Vitamin A)

วิตามินเอ มีประโยชน์ช่วยในการมองเห็น ช่วยการเจริญเติบโตของร่างกายผิวพรรณและผม รวมทั้งยังช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่แปลงเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอ ทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะการขาดวิตามินเอ ดังนั้น ควรบริโภคอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอมากกว่าปกติ ในทางตรงกันข้าม ระดับวิตามินเอในร่างกายที่มากเกินไป จะส่งผลให้เกิดพิษและความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคมะเร็งปอด

  • การตอบสนองต่อกาเฟอีน (Caffeine Sensitivity)

การตอบสนองต่อกาเฟอีนขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กาเฟอีนอยู่ในร่างกาย การเผาผลาญกาเฟอีนได้เร็ว หรือช้า การที่กาเฟอีนอยู่ในร่างกายในระยะเวลานานจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่ที่มีอิทธิพลต่อการเผาผลาญกาเฟอีนในร่างกาย ยกตัวอย่าง ผู้ที่มียีนที่มีการตอบสนองต่อกาเฟอีนมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ร่างกายเผาผลาญกาเฟอีนได้ช้า ควรจะหลีกเลี่ยงการบริโภคกาเฟอีน หรือจำกัดการบริโภค น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน

  • การขาดแคลเซียม (Calcium Deficiency)

ร้อยละ 99 ของแคลเซียมอยู่ในกระดูกและฟัน สาเหตุหลักของการขาดแคลเชียมมาจากการขาดวิตามินดี ที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย การขาดแคลเซียมทำให้เกิดสภาะกระดูกพรุน ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ ในทางตรงข้าม เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินไป จะมีแคลเซียมในกระแสเลือดมาก ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งบางประเภทตามมา อาทิเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งเม็ดเลือด ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยีนที่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และสามารถใช้ในการแนะนำปริมาณการบริโภคแคลเซียมที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  • การตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate Sensitivity)

แต่ละบุคคลมียีนที่สร้างเอ็นไซม์อะไมเลสในน้ำลายซึ่งทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้แตกต่างกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยีนที่มีอิทธิพลต่อการย่อยคาร์โบไฮเดรต เพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีพันธุกรรมที่ตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตต่ำ หรือมียีนที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตมีประสิทธิภาพน้อย จะมีโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักตัวจากการรับประทานอาหารได้มาก อย่างไรก็ตาม หากท่านมีพันธุกรรมดังกล่าว สามารถแก้ไขโดยการรับประทานอาหารให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มระยะเวลาการย่อยคาร์โบไฮเดรต

  • การรับรสอาหารที่มีรสชาติมัน (Fat Taste)

อาการที่บางคนรับประทานอาหารที่มีรสมันแล้วรู้สึกว่ามันเลี่ยนเมื่อทานไปมาก ๆ แต่บางคนกลับทานอาหารสมันเหล่านี้ต่อไปได้โดยไม่รู้สึกเลี่ยน ความแตกต่างนี้อาจจะมีที่มาจากพันธุกรรม กลุ่มคนที่รับรสมันได้น้อยกว่าอาจจะเผลอรับประทานอาหารที่มีความมันมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความมันไม่ให้ทานมากเกินไป

  • ความต้องการโฟเลต (Folate)

การขาดโฟเลตจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางและภาวะสุขภาพอื่น ๆ อาทิเช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจสั้น ใจสั่น หน้ามืดบ่อย ความจำและทักษะทางความคิดลดลง รวมทั้งมีการปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการแปลงกรดโฟลิคเพื่อนำไปสร้างสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย หากท่านมีพันธุกรรมนี้ ภาวะการขาดโฟเลตอาจจะเกิดขึ้นและสังเกตได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าจะบริโภคอาหารที่มีโฟเลตในปริมาณที่แนะนำต่อวันแล้วก็ตาม

  • สภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance)

ปัญหาในการเผาผลาญน้ำตาลในนม หรือแลคโตสทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งมาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกเกิดจากยีนที่ช่วยสร้างเอ็นไซม์ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสมีประสิทธิภาพลดลง และเกิดจากความผิดปกติของลำไส้ ทำให้สูญเสียความสามารถในการเผาผลาญแลคโตสชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก ผลตรวจพันธุกรรม จะทำให้เราเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส ซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้ในห้องแล็บทั่วไป

  • โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 (Omega-3 and Omega-6 Level)

ในสมองของมนุษย์ประกอบด้วยไขมันร้อยละ 60 จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม กรดไขมันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเอง การขาดโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม ไขมันพอกตับ และโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ สัดส่วนที่ไม่เหมาะของโอเมก้า-6 ต่อ โอเมก้า-3 ยังก่อให้เกิดการอักเสบ โรครูมาตอยด์ และโรคหัวใจด้วยเช่นกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อระดับโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ในร่างกาย เพื่อใช้ในการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  • โอเมก้า-3 และ DHA (Omega-3 and DHA)

โอเมก้า 3 เป็นกลุ่มของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวชนิดหนึ่ง ตัวอย่างโอเมก้า 3 ที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กรดไขมันลิโนเลอิคชนิดแอลฟา (ALA) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนกรดไขมันนี้ให้เป็น DHA การรับประทานกรดไขมันเหล่านี้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปกติ ตัวอย่างอาหารที่มีโอเมก้า 3 มาก ได้แก่ ปลาทะเล อาหารทะเล เมล็ดเชีย และอาหารที่มีการเสริมโอเมก้า 3

  • การตอบสนองต่อเกลือและความดันโลหิต (Salt Hypertension Sensitivity)

การบริโภคเกลือโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไปส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะการตอบสนองต่อเกลือและความดันโลหิต มักจะไม่แสดงอาการเด่นชัด แต่อาจจะมีสัญญาญเตือนโดยมีค่าความดันโลหิตสูงขึ้นพร้อมกับอาการปวดศรีษะ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลการตอบสนองต่อเกลือและความดันโลหิต โดยทั่วไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคเกลือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากท่านมีพันธุกรรมนี้ ควรหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมลงน้อยกว่าค่าที่แนะนำ

  • การรับรสเค็ม (Salt Taste Receptor)

ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อการรับรสเค็ม หากท่านมีพันธุกรรมนี้ จะมีความชอบในการบริโภคอาหารรสเค็ม และบริโภคในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งส่งต่อผลให้เกิดโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคไต ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

  • การตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat Sensitivity)

ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อการตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว ผู้ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นหรือลดลง แปรผันตามปริมาณที่บริโภค ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่ว่าจะควบคุมการบริโภค ไม่เกิน 22 กรัมต่อวัน ยังคงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม การบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก จะเพิ่มระดับไขมันเลว LDL ในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

  • การตอบสนองต่อไขมันไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fat Sensitivity)

การรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะมีส่วนช่วยลดไขมันและโครเลสเตอรอลในเลือด ดังนั้น ควรเพิ่มอาหารที่มีส่วนของไขมันไม่อิ่มตัว หรือ แทนที่ไขมันอิ่มตัวด้วยไขมันไม่อิ่มตัว อาทิเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย อะโวคาโด น้ำมันมะกอก เมล็ดดอกทานตะวัน และถั่วชนิดต่าง ๆ

  • ธาตุเหล็ก (Serum Iron Level)

ธาตุเหล็กในร่างกายอาจมีทั้งน้อยไป หรือมากเกินไป การมีธาตุเหล็กในระดับต่ำจะส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง ในทางตรงข้าม ธาตุเหล็กในระดับสูงไปจะส่งผลให้เลือดเป็นพิษ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อระดับธาตุเหล็กในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มียีนที่ส่งผลต่อการผลิตธาตุเหล็กในปริมาณมาก จะทำให้เกิดโรคปวดตามข้อ ปวดหลัง อ่อนเพลีย โดยเฉพาะผู้ชายช่วงอายุ 30 – 50 ปี จะมีผลมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงมีการสูญเสียเลือดในระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กลง

  • การรับรสหวาน (Sweet Taste)

ผลตรวจพันธุกรรม หากท่านมียีนที่ส่งเสริมการรับรสหวาน ร่างกายจะสามารถรับรสหวานได้มาก แม้จะบริโภคอาหารที่มีรสหวานในปริมาณน้อย ในทางตรงข้าม หากท่านไม่มีพันธุกรรมดังกล่าว จะต้องบริโภคอาหารที่มีรสหวานในปริมาณมาก เพื่อให้ได้ระดับความหวานที่พึงพอใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

  • วิตามินบี 12 (Vitamin B12 Level)

หน้าที่สำคัญของวิตามินบี 12 คือการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมทั้งทำให้เซลล์มีความสมบูรณ์แข็งแรง โดยปกติร่างกายสามารถเก็บสะสมวิตามินบี 12 ไว้ในตับได้มากถึง 1,000 – 2,000 เท่าของปริมาณความต้องการต่อวัน เพื่อนำไปใช้ในวันที่มีไม่เพียงพอ การขาดวิตามินบี 12 จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดอาการชาในมือและเท้า และการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยีนที่มีอิทธิพลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 ในร่างกาย สังเกตด้วยว่า แม้ว่าร่างกายเกิดภาวะการขาดวิตามินบี 12 จะไม่สามารถตรวจพบได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากร่างกายสามารถนำเอาวิตามินบี 12 ที่เก็บสะสมไว้ มาใช้งานได้เป็นระยะเวลานานนับปี

  • วิตามินบี 6 (Vitamin B6 Level)

วิตามินบี 6 ละลายได้ในน้ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ การขาดวิตามินบี 6 จะทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง เกิดแผลที่ผิวหนัง และมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ ในทางตรงกันข้าม การได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณที่มากไป จะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังชนิดรุนแรงด้วยเช่นกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อความต้องการวิตามินบี 6 ในปริมาณที่สูงขึ้นมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อาทิเช่น โรคมะเร็งลำไส้ ถ้าร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณที่เพียงพอ

  • วิตามินซี (Vitamin C Level)

วิตามินซีช่วยบำรุงผิวพรรณ สร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสร้างและเก็บสะสมวิตามินซีได้ เมื่อร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ จะทำให้ผิวพรรณไม่สดใส มีเลือดออกขณะแปรงฟัน แผลหายช้า และมีภูมิคุ้มกันโรคลงต่ำลง และหากรับประทานมากเกินไป วิตามินซีจะถูกขับออกทางร่างกายพร้อมปัสสาวะ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อความต้องการวิตามินซีในร่างกาย ซึ่งระดับของวิตามินซียังส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกายด้วย

  • วิตามินดี (Vitamin D Level)

วิตามินดีช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมวลกระดูก การขาดวิตามินดี ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน และโรคมะเร็งบางประเภท ผลตรวจพันธุกรรม จะเแสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการขาดวิตามินดี และใช้ในการแนะนำปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  • วิตามินอี (Vitamin E Level)

วิตามินอีเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยบูสต์การผลิตคอลลาเจน คืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิว รักษาผิวที่เสียหาย ลดริ้วรอย และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอีละลายในไขมันและเมื่อใช้ไม่หมดจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ โดยทั่วไป การขาดวิตามินอีมีสาเหตุหลักมาจากพันธุกรรม ซึ่งไม่พบบ่อยนัก และอาจจะพบในผู้ที่ควบคุมและจำกัดปริมาณการบริโภคไขมัน อย่างไรก็ตาม การขาดหรือการมีวิตามินอีในร่างกายในระดับที่มากเกินไปจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม

ที่มารูป : freethink (2022)

Epigenetics

การค้นคว้าและทำความเข้าใจกับ epigenetics ทำให้เรารู้ว่า ดีเอ็นเอ นั้น มีความเชื่อมโยงกับ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา … กล่าวคือ coded dna เปรียบเสมือน กรรม ที่ผู้นั้นได้กระทำมาแต่ชาติปางก่อน จดบันทึกลง dna strand สามพันล้านคู่สาย และ epigenetics หรือ ส่วนของดีเอ็นเอที่ไม่ได้ถูกเข้ารหัส ATCG นั้น เปรียบเสมือน กรรม ที่เกิดขึ้นจากการกระทำในช่วงชีวิตของมนุษย์ ในทางพุทธศาสนา epigen อาจเปรียบเสมือนตัวควบคุมการแสดงออกทางร่างกายและจิตใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษย์เรานั้นมีความสามารถ “โดยธรรมชาติ” ที่จะ master body & mind …. นักกีฬา ฝึกฝน well-trained ทำให้ gene แสดงออกเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และเซลล์สมองจดบันทึกทักษะทางกีฬาเอาไว้
ความเข้าใจศาสตร์จีโนมิกส์ หรือด้านพันธุกรรมมนุษย์ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า พรสวรรค์ (จาก ยีน) และ พรแสวง (epigen) … นั้น มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ คำกล่าวที่ว่า เด็กเปรียบเสมือนผ้าสี (coded dna) อาจจะเป็นความจริง เพียงแต่ต้องการให้ผู้ใหญ่ทำให้สีนั้น ๆ แสดงออกมา (epigen) หรือทำให้สีนั้น มีความโดดเด่นและชัดเจนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เค้าได้เติบโต สร้างเป้าหมายสู่ความสำเร็จ ตามสีที่เค้าเป็น
ที่มารูป : NIEHS

MOU

2 พฤษภาคม 2565 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โดยนายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และกลุ่มบริษัท กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม

การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาศูนย์เรียนรู้และระบบแพลตฟอร์มด้านสุขภาพ สำหรับการดูแลสุขภาพของบุคลากรสาธารณสุข การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในด้านการดูแลสุขภาพ ทักษะในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และด้านอื่น ๆ ที่จะนำมาขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนิวส์

Agri-food ecommerce

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้าเกษตร

ความท้าทายในการออกแบบและพัฒนา กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม ให้สามารถรองรับการขายสินค้าเกษตรผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ประเภทผักสด ผลไม้ ของสด ประมงพื้นบ้าน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การผลิตเพื่อความพอมี พอกิน พอใช้ ก่อน และส่วนที่เหลือนำมาแบ่งปัน หรือขายให้กับผู้บริโภค ดังนั้น เราจึงไม่ทราบว่า สัปดาห์นี้จะมีสินค้าอะไรขายบ้าง และมีปริมาณเท่าไหร่ รวมทั้ง อาจไม่สามารถรู้ข้อมูลล่วงหน้า ตามกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ ?

ทีมงานได้ออกแบบและพัฒนา กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม ผ่าน โมบายแอปพลิเคชัน KinYooDee ให้สามารถรองรับกับวิถีดังกล่าว โดย วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร สามารถส่งข้อมูลรายการสินค้าและปริมาณที่จะขายเข้ามาในระบบ เพื่อให้ระบบทำการเปิดการขาย และปิดการขาย โดยอัตโนมัติ เมื่อสินค้ารายการนั้น ๆ ถูกขายออกไปและมีปริมาณสต็อกเท่ากับศูนย์ หรือปิดการขายเมื่อสินค้านั้น ๆ ถึงเวลา Cut-off time ที่ถูกตั้งค่าไว้ล่วงหน้า หลังจากนั้น ระบบแพลตฟอร์ม จะทำการตัดสต็อกของสินค้าที่คงเหลืออยู่ให้เป็นศูนย์ เพื่อรอรับข้อมูลรายการและปริมาณสินค้าที่ส่งมาเพื่อเปิดการขาย ในรอบถัดไป

KinYooDee Platform Feature Release: 2020-04-29

Thamturakit

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาโครงการเกษตรและอาหารปลอดภัย ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่าง บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ….๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕…. ระหว่าง บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด โดย นายพิเชษฐ โตนิติวงศ์ ตำแหน่ง ผู้จัดการไปทั่ว สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๘/๒ หมู่ที่ ๔ ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๑๗๐
กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม โดย นายณกร อินทร์พยุง ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๗๙/๕๒๘ ถนนแสนสุข ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ๒๐๑๓๐ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

๑) ร่วมกันสนับสนุนโครงการเกษตรและอาหารปลอดภัย การปลูกและผลิตสินค้าแบบธรรมชาติโดยปราศจากสารเคมี ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

๒) ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการซัพพลายเชน ระหว่าง คนกิน กับ คนปลูก และคนกลางคือ บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม โดย คนกินสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม กินอยู่ดี แล้ว บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้ส่งมอบผลผลิตจากเครือข่ายศิษย์ยักษ์กะโจน

๓) ร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรอื่น ๆ ในการสร้างภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทางธุรกิจเพื่อสังคม อย่างยั่งยืน

นายพิเชษฐ โตนิติวงศ์
ผู้จัดการไปทั่ว บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

นายณกร อินทร์พยุง
ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม

นายธันยวรวรรธน์ เฉลิมพัฒนาสุข
บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

นางสาวณภัค กิตติญาณนนท์
กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม