ชุดตรวจ Nutrition DNA จากกระพุ้งแก้ม (Buccal swap) – เผยความลับความสัมพันธ์ระหว่างดีเอ็นเอและอาหารเฉพาะบุคคลเพื่อการรักษาและดูแลสุขภาพแบบแม่นยำ
สั่งซื้อชุดตรวจ on our Apps
Food, Health, Future Mobility and PHA Bioplastics
ชุดตรวจ Nutrition DNA จากกระพุ้งแก้ม (Buccal swap) – เผยความลับความสัมพันธ์ระหว่างดีเอ็นเอและอาหารเฉพาะบุคคลเพื่อการรักษาและดูแลสุขภาพแบบแม่นยำ
สั่งซื้อชุดตรวจ on our Apps
ยีนส่งผลต่อความต้องธาตุเหล็กในร่างกายอย่างไร ?
ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่คอยจับกับออกซิเจนและส่งต่อไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งทำหน้าที่ในกระบวนการเมตาโบลิซึมของเซลล์และเป็น Co-factor ของเอนไซม์หลายชนิด เหล็กที่อยู่ในร่างกายจะกระจายอยู่ในหลาย ๆ ส่วน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเม็ดเลือดแดง และอยู่ในทรานสเฟอร์ริน (Transferrin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เก็บธาตุเหล็กในกระแสเลือด ในสภาวะปกติ ร่างกายจะมีปริมาณของธาตุเหล็กที่จับอยู่กับทรานสเฟอร์ริน (Serum Iron) อยู่ระหว่าง 50-150 ug/dL
เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็ก จะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง ง่วงนอนบ่อย ผิวซีด (เหลือง) เล็บหักง่าย ผมร่วง ปวดศรีษะ หายใจสั้น มีอัตราเต้นของหัวใจไม่ปกติ ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน/การทำงาน รวมทั้งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและสมองลดลง และทำให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ในทางตรงกันข้าม ถ้าร่างกายอยู่ในภาวะเหล็กเกินก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายด้วยเช่นกัน เช่น ทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง ตับ กล้ามเนื้อ และหัวใจ เกิดอาการข้ออักเสบ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตับแข็ง เบาหวาน และอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อรับประทานวิตามินซีหรืออาหารที่มีวิตามินซีสูง เนื่องจากวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้ดียิ่งขึ้น
ภาวะการขาดธาตุเหล็ก โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากภาวะโภชนาการ และสามารถรักษาได้โดยง่ายด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก หรือในรูปแบบอาหารเสริม นอกจากนี้ การขาดธาตุเหล็กอีกสาเหตุหนึ่ง มาจากยีน TF ซึ่งทำหน้าที่สร้างโปรตีนทรานสเฟอร์ริน ทำหน้าที่ขนส่งธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์ตับ ม้าม และไขกระดูก ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้ง ยีน TMPRSS6 ซึ่งเป็นยีนที่สร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเฮปซิดิน (Hepcidin) ซึ่งเป็นเอนไซน์ที่สร้างจากตับ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้ ทำงานผิดปกติ ในกรณีนี้ ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ แม้ว่าจะได้รับธาตุเหล็กจากอาหาร หรืออาหารเสริมก็ตาม ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยปกติ ชายและหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับธาตุเหล็ก 10 และ 15 มิลลิกรัมต่อวัน และคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับอย่างน้อยวันละ 27 มิลลิกรัม อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือด เครื่องในสัตว์ ตับหมู ไก่ ปลาแซลมอล รวมทั้งผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ควรได้รับธาตุเหล็กในปริมาณ 1.8 เท่าของคนปกติ (เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารพวก พืชผัก ข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ได้น้อย เพียง 3-5% เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ 10-15%) สังเกตด้วยว่า อาหารบางประเภทอาจจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกาย เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ชา กาแฟ ถั่ว รวมทั้งยาบางประเภท ในทางตรงข้าม อาหารที่ช่วยเสริมการดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม มะนาว กีวี และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งควรรับประทานอาหารเหล่านี้ระหว่างรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
ที่มารูป : healthydirections
โฟเลต เหมือนหรือต่างกับ กรดโฟลิค และความเสี่ยงจากปัจจัยทางพันธุกรรม
โฟเลต (Folate) มาจากคำในภาษาละติน “Folium” แปลว่า ใบไม้ โฟเลตเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ สลายตัวหรือสูญเสียคุณประโยชน์ได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน โฟเลต (วิตามินบี 9) และวิตามินบี 12 มีความสัมพันธ์กันอย่างมากในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกเหรอ และช่วยในการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ โฟเลตมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการแบ่งเซลล์ เช่น การแบ่งเซลล์เพื่อการเจริญเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ ขณะที่วิตามินบี 12 มีความสำคัญต่อการพัฒนาและการทำงานของระบบประสาทและสมอง
การขาดโฟเลต จะส่งผลต่อสภาวะการมีบุตรยากของสตรี รวมถึงความไม่สมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ทารกมีภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เกิดความผิดปกติในการเจริญของระบบประสาท ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออทิสติก ในผู้ใหญ่การขาดโฟเลต จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ โรคจิตเภท ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด มีแนวโน้มในการเกิดโรคหัวใจ โรคต้อหิน และโรคมะเร็งลำไส้
สาเหตุหนึ่งของการขาดโฟเลตมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม โดยที่ยีน MTHFR ที่สร้างเอนไซม์ Methylenetetrahydrofolate Reductase ซึ่งทำหน้าที่แปลงกรดอะมิโนโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) ไปเป็นเมไทโอนีน (Methionine) เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งาน ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น คนที่มียีน MTHFR ทำงานผิดปกติ จะทำให้มีการสะสมของระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูง และส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพโดยรวม โดยทั่วไป เราจะไม่สามารถทราบได้ว่ามียีน MTHFR ทำงานผิดปกติหรือไม่ นอกจากจะมีอาการแสดงออกถึงความผิดปกติทางร่างกายจากการขาดโฟเลตในระดับที่รุนแรง หรือใช้การตรวจโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrition DNA) และการขาดโฟเลตมักจะมีความสัมพันธ์กับการขาดวิตามินบี 12 ด้วยเช่นกัน
โฟเลต นั้นหมายถึงวิตามินบี 9 ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง กรดโฟลิค (Folic acid) โฟเลต สามารถพบได้ตามธรรมชาติในอาหารทั้งผักผลไม้และเนื้อสัตว์ ในขณะที่กรดโฟลิค เป็นวิตามินที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงและมีความสำคัญต่อร่างกายเหมือนกับโฟเลต บริษัทผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่มักจะเพิ่มกรดโฟลิกลงไปในอาหาร เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า อาหารเช้าซีเรียล เพื่อให้ร่างกายได้รับโฟเลตในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ข้อควรสังเกตความแตกต่างกันระหว่างโฟเลตและกรดโฟลิค คือ กรดโฟลิค สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปไปใช้ประโยชน์ได้เร็วและง่ายกว่า ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ขาดหรือผู้ที่ต้องการโฟเลตสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ในทางตรงข้าม การได้รับวิตามินบี 9 สังเคราะห์ ในรูป กรดโฟลิค อาจจะเกิดผลข้างเคียง หรือเกิดภาวะเป็นพิษเนื่องจากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งจะแตกต่างกับ กรณีของโฟเลตที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติ จะผ่านกระบวนการย่อยและเข้าสู่ระบบร่างกาย และมีกลไกการขับปริมาณโฟเลตที่เกินความจำเป็นออกทางปัสสาวะ
ปริมาณโฟเลตที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 19 ปี เท่ากับ 400 ไมโครกรัม (mcg) คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับโฟเลตในปริมาณ 600 และ 500 mcg ตามลำดับ โฟเลตพบมากในพืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว และผลไม้บางชนิด ยกตัวอย่างเช่น ในปริมาณ 100 กรัม ถั่วแระญี่ปุ่น จะมีโฟเลต 300 mcg ถั่วดำ (230) ถั่วเขียว (186) ถั่วลิสง (170) ผักโขม (160) หน่อไม้ฝรั่ง (150) ผักกาดหอม (140) บร็อคโคลี่ (100) กะหล่ำปลี (90) คะน้า (80) ทุเรียน (160) รวมทั้ง ไข่แดง (150) เครื่องในสัตว์ ตับหมู (140) เนื้อไก่ (70) นมสด (10)
สังเกตด้วยว่า งานวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ออกมาโต้แย้งและยังไม่ได้ข้อสรุปกับผลการศึกษาในอดีตว่า แม้ว่าจะพบตำแหน่งการกลายพันธุ์ในยีน MTHFR แต่การทำงานของยีนยังคงสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะรักษาระดับของโฮโมซีสเตอีนในเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งไม่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพใด ๆ ดังนั้น การตรวจพบตำแหน่งกลายพันธุ์ในยีน MTHFR อาจจะใช้แค่เป็นเครื่องมือคัดกรองสุขภาพ Pre-screening เบื้องต้น เท่านั้น ผู้ที่ตรวจพบยีน MTHFR ทำงานผิดปกติ และยังคงมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ จึงไม่ควรต้องวิตกกังวลใด ๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่พบตำแหน่งกลายพันธุ์ของยีน และสังเกตว่าร่างกายมีภาวะผิดปกติในลักษณะการขาดโฟเลต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับโฟเลตจากโฮโมซีสเตอีนในเลือด ในการหาสาเหตุและแนวทางการรักษา ต่อไป
ที่มารูป : gutperformance
ปัจจัยทางพันธุกรรมอาจส่งผลให้ร่างกายเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอได้ลดลง มากถึงร้อยละ 70
เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) พบมากในพืชโดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสีเหลือง-ส้ม-แดง เช่น แครอท มะเขือเทศ มะละกอ ฟักทอง เมื่อได้รับอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีน (Pro-vitamin) ให้เป็นวิตามินเอ หรือเรตินอล เพื่อนำไปใช้งาน
วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นกลุ่มวิตามินที่จำเป็น ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น วิตามินเอ ละลายได้ในน้ำมัน ต้องอาศัยไขมันในการเปลี่ยนรูปเพื่อให้ผนังลำไส้สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย วิตามินเอเป็นองค์กระกอบสำคัญของโปรตีนที่จุดรับแสงเรตินาในดวงตา ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเยื่อบุตาและกระจกตา ช่วยในการมองเห็น รวมทั้งยังช่วยทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย การขาดวิตามินเอ จะส่งผลให้มีโอกาสในการเกิดอาการตาไม่สู้แสง แสบตา และทำให้น้ำตาไหลได้ง่าย เยื่อบุตาแห้งและอักเสบ อาการโรคตาฟางหรือตาบอดในตอนกลางคืน โรคโลหิตจาง มีสิวเห่อขึ้นเต็มหน้า และผิวหนังแห้งหยาบกร้าน
ร่างกายอาจจะได้รับวิตามินเอโดยตรงจากการรับประทานอาหาร อาทิเช่น เครื่องในสัตว์ น้ำมันตับปลา ไข่แดง เนย นม หรือได้รับเบต้าแคโรทีน จากผักผลไม้สีเหลือง-ส้ม-แดง โดยแปลงให้อยู่ในรูปวิตามินเอ สังเกตด้วยว่า ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติมาเป็นเวลานาน ผนวกกับมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่มียีน BCO1 หรือ BCM01 ผิดปกติ ยีนซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตเอนไซม์ Beta-carotene oxygenase ในการแปลงเบต้าแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอได้น้อยกว่าคนอื่น มากถึงร้อยละ 70 ซึ่งทำให้ระดับวิตามินเอในร่างกายลดต่ำลงอย่างมาก ขณะที่จะมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าคนอื่น จากข้อมูลมนุษยพันธุศาสตร์ มีผู้ที่มียีน BCO1 หรือ BCM01 ทำงานได้น้อยกว่าปกติประมาณร้อยละ 45 ของประชากร
โดยทั่วไป ปริมาณวิตามินเอที่แนะนำให้บริโภคต่อวันจะอยู่ในช่วงระหว่าง 700 – 900 ไมโครกรัม (mcg) สำหรับเพศหญิงและชายที่มีอายุมากว่า 19 ปี และไม่ควรบริโภคเกิน 3,000 mcg ต่อวัน ยกตัวอย่างปริมาณวิตามินเอในอาหาร เช่น ตับหมู ในปริมาณ 100 กรัม จะมีวิตามินเอ 5,000 mcg น้ำมันตับปลา Cod (1,350 mcg) ไข่แดง (500 mcg) นม (20 mcg) ปลาแซลมอล (15 mcg) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวัง เนื่องจากวิตามินเอ ละลายในไขมัน การได้รับวิตามินเอจากอาหารหรืออาหารเสริมในปริมาณที่มากเกินไป ร่างกายจะไม่สามารถขับวิตามินเอที่เกินออกทางปัสสาวะได้ วิตามินเอที่เกินจะสะสมในร่างกายทำให้เป็นพิษต่อตับและส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงความต้องการระดับวิตามินเอที่เหมาะสม เพราะจะส่งผลต่อความสมบูรณ์และพัฒนาการของเด็กในครรภ์
ที่มารูป : wallpaperaccess
ความเครียดส่งผลต่อการขาดวิตามินบี 12 และการเพิ่มของน้ำหนักตัว ?
จากงานวิจัยพบว่า ความเครียด อารมณ์แปรปรวน ปัญหาทางจิต โรคสมองเสื่อม มีความสัมพันธ์ต่อการขาดวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 (โฟเลต) อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น และโรคอ้วน
วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายไม่สังเคราะห์ได้เองจึงจำเป็นต้องได้รับผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น วิตามินบี 12 มีหน้าที่สำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและสังเคราะห์ดีเอ็นเอ เมตาบอลิซึมของกรดไขมันและกรดอะมิโน ส่งเสริมการทำงานของสมองและเซลล์ประสาท นอกจากนี้ วิตามินบี 12 ยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น
สาเหตุหลักของการขาดวิตามินบี 12 ได้แก่ ความสามารถในการดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ลดลง อาทิเช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ ขาดกรดในกระเพาะอาหาร ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 คนที่รับประทานมังสวิรัติเป็นเวลานาน (ขาดเนื้อสัตว์ ซึ่งอุดมด้วยวิตามินบี 12) ผู้ที่ดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์ในปริมาณมากก็ส่งผลให้การดูดซึมวิตามิน B12 ลดลง นอกจากนี้ โรคเกี่ยวกับลำไส้เล็ก การแพ้กลูเตน (Celiac disease) ตับอ่อนทำงานผิดปกติ แบคทีเรียเจริญผิดในลำไส้เล็ก การรับประทานยารักษาโรคเบาหวานเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (Metformin) ยาลดกรดในกระเพาะอาหารบางประเภท ล้วนแล้วส่งผลต่อร่างกายในการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่ลดลง และยังรวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมสำหรับผู้ที่มียีน FUT2 MTHFR และ CLYBL ทำงานผิดปกติ ซึ่งสามารถทราบได้จากการตรวจ #โภชนพันธุศาสตร์
ในงานวิจัยที่ผ่านมาไม่นานนี้พบว่า ความเครียดกระตุ้นให้สมองและระบบประสาททำงานมากกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับวิตามินในกลุ่มบี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินบี 12 ลดลง นอกจากนี้ เนื่องจากวิตามินบี 12 เป็นตัวช่วยในกระบวนการเมตาบอลิซึมไขมันในร่างกาย การขาดวิตามิน บี 12 จึงมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยปกติ ร่างกายจะได้รับวิตามินบี 12 จากการรับประทานอาหาร Balanced diet ในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว วิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณวิตามินบี 12 ในหน่วย ไมโครกรัม (mcg) ต่อ 100 กรัม : หอย (50 – 100) ตับหมู (18) ปลาทูน่า (10) เนื้อแดง (7) ปลาแซลมอน (5) นม (4) และไข่ (1) เป็นต้น ขณะที่ปริมาณที่แนะนำให้บริโภค เพียงแค่ 2.4 mcg ต่อวัน
การขาดวิตามินบี 12 อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ความจำไม่ดี ภาวะซึมเศร้า อาการฟุ้งพล่าน หรืออาการโรคจิต รวมทั้ง มีโอกาสในการเกิดโรคทางเลือดและระบบประสาท อาทิเช่น โรคโลหิตจาง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองเสื่อม … จากข่าวในต่างประเทศ มีดาราฮอลลีวูดหลายคนนิยมใช้การฉีดวิตามินบี 12 เข้ากล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มระดับวิตามินบี 12 ในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ลดความตรึงเครียด และช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งอาจจะเหมาะกับผู้ที่มีความบกพร่องในการดูดซึมวิตามินบี 12 จากการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริม
อย่างไรก็ตาม เป็นข้อสังเกตว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีผลงานวิจัยเพียงพอและยังเป็นข้อโต้แย้ง ที่จะสรุปถึงประโยชน์ของวิตามินบี 12 ในการลดความเครียด ช่วยลดน้ำหนัก หรือช่วยบำรุงผิวพรรณ ในกรณีบุคคลนั้น มีวิตามินบี 12 ในร่างกายในระดับที่เพียงพออยู่แล้ว
ที่มารูป : scitechdaily
ภาวะการขาดวิตามินอี พบได้น้อยมากในคนทั่วไปที่มีสุขภาพดี การขาดวิตามินอี มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาสุขภาพ อาทิเช่น กล้ามเนื้ออักเสบ การสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ปัญหาสุขภาพตา ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รวมทั้งสาเหตุจากพันธุกรรม
ในภาวะโภชนาการทั่วไป ร่างกายจะได้รับวิตามินอี ในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว วิตามินอีพบมากในน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณวิตามินอี มิลลิกรัม (mg) ต่อ 100 กรัม ของน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เท่ากับ 48.7 น้ำมันปาล์ม 25.6 และ น้ำมันถั่วเหลือง 10.1 เป็นต้น ในขณะที่ปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน เพียงแค่ 15 mg เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป มากกว่า 1,000 mg ต่อวัน จะเกิดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก (Bleeding)
เมื่อร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามินอี ซึ่งละลายอยู่ในไขมัน จะถูกซึมที่ลำไส้เล็กและส่งต่อไปยังกระแสเลือด โดยที่ตับจะเป็นอวัยวะที่ดูดซึมและเก็บกักวิตามินอีเพื่อนำไปใช้งานมากที่สุด วิตามินอี ทำหน้าที่หลักเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย นอกจากนี้ จากงานวิจัยทางการแพทย์ยังพบว่า วิตามินอี มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งต่อมลูกหมาก ต้อกระจกตา ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่ง และภาวะมีบุตรยากในเพศชาย
ในมุมของ #โภชนพันธุศาสตร์ ระดับของวิตามินอี มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งกลายพันธุ์เฉพาะจุด (SNP) ของยีน CYP4F2, SCARB1 และ APOA5 ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซึมไขมัน และระดับไขมันและวิตามินอีในเลือด ทำให้เกิดภาวะการขาดวิตามินอี
ในการศึกษาในปัจจุบัน นักวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินอี มีความสัมพันธ์กันอย่างมากกับวิตามินซี วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) เซเลเนียม และกลูตาไธโอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างวิตามินอี และวิตามินซี … ดังนั้น เราควรได้รับวิตามินอี พร้อมกับ วิตามินหรือสารอาหารประเภทอื่นในปริมาณที่เหมาะสมพอดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย …. ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำล่าสุดของ Dietary Guidelines for Americans 2020 – 2025 ระบุว่า “การรับประทานอาหาร จะได้สารอาหารที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม การเสริมสารอาหารบางประเภทที่ร่างกายต้องการมากขึ้น ควรจะอยู่ในรูปแบบอาหาร (Food) ที่รับประทานเพิ่มเข้าไป และใช้อาหารเสริม (Supplement) ในบางช่วงเวลาที่ต้องการมากเป็นพิเศษ เช่น ช่วงระยะเวลาตั้งครรภ์)
สำหรับวิตามินอีและประโยชน์ต่อผิวพรรณ ในด้านการยับยั้งการเสื่อมสภาพของผิวและช่วยชะลอความแก่ ปัจจุบันยังมีข้อโต้แย้งและยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม วิตามินอีสามารถใช้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเซลล์ผิวหนังสำหรับคนที่มีผิวแห้งกร้าน ช่วยเป็นเกราะป้องกันแสงแดด ช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวที่เสียหาย ลดริ้วรอย กรณีคนที่มีผิวมันและผิวที่เป็นสิวง่าย การใช้วิตามินอีกับผิวอาจจะไม่จำเป็น หรือเกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อย
ที่มารูป : Food and Wine Magazine
ยีนอ้วน … กรรมพันธุ์อ้วน-ผอม มีอยู่จริงหรือ ?
ทำไมบางคนทานเท่าไรก็ไม่อ้วน บางคนหิวบ่อย บางคนชอบทานแป้ง ชอบขนมหวาน ของทอด อาหารสเค็ม แต่ทำไมคุณทานแค่นิดเดียว น้ำหนักก็ไม่ลดลงซักที เมื่อตัดปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม Enjoy eating ออกไปแล้ว … หรือว่า คุณจะมียีนอ้วน จริง ๆ
เมื่อมองในมุม #โภชนพันธุศาสตร์ ยีนอ้วน นั้นไม่มีจริง แต่จะมีกลุ่มของยีนบางตัวที่ตอบสนองต่อสารอาหารและอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวโดยตรง อาทิเช่น ความอยากอาหาร การตอบสนองคาร์โบไฮเดรต การตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว รวมทั้ง การรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม
คุณอาจจะมียีนตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลาย ๆ ตัวรวมกัน ทำงานได้ไม่ดี หรือทำงานผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ยีน FTO ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) ที่หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร จะส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิวและทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหาร รวมทั้งยีน MC4R ที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวในต่อมใต้สมอง คนที่มียีนดังกล่าวนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้มีความอยากอาหารและรู้สึกหิวมากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
คนที่มียีน TCF7L2 ที่ตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตต่ำ จะทำให้ประสิทธิภาพการย่อยคาร์โบไฮเดรตลดลง ส่งผลให้มีโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักตัวได้มากกว่าคนอื่น คนที่มียีน APOA2 ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นหรือลดลง แปรผันตามปริมาณที่บริโภค ในทางตรงกันข้าม คนที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่ว่าจะควบคุมการบริโภคไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 22 กรัมต่อวัน ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเท่าเดิม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ลดน้ำหนักตัวลงได้ยากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ คนที่มีกลุ่มยีนที่ตอบสนองต่อการรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม ผิดปกติ ก็จะทำให้บริโภคอาหารที่มีรสชาติเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป และอาจส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน
การตรวจว่าคุณมียีนที่ตอบสนองต่อสารอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้นผิดปกติหรือไม่ สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและสังเกตความสัมพันธ์กับค่าน้ำหนักตัว หรือการตรวจโภชนพันธุศาสตร์ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ข้อแนะนำทั่วไป สำหรับคนที่มีกลุ่มยีนที่ตอบสนองต่อความอยากอาหาร คาร์โบไฮเดรต ไขมัน รวมทั้งการตอบสนองต่อการรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม ผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้สอดคล้องกับความต้องการสารอาหารและประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มยีนของบุคคลนั้น ๆ อาทิเช่น การหลีกเลี่ยง ลดปริมาณการบริโภค หรือออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญอาหาร และในกรณีคนที่มียีนที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ไม่ดี สามารถแก้ไขโดยการกินอาหารให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มระยะเวลาการย่อยคาร์โบไฮเดรต
ที่มารูป : Times of India
วิตามินบี 6 เพื่อนแท้ของผิว ความลับที่ถูกเปิดเผย
วิตามินบี 6 หรือ Pyridoxine เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้เอง ต้องอาศัยการดูดซึมจากอาหารที่รับประทานเท่านั้น การทำงานของวิตามินบี 6 จะอยู่ในรูป Pyridoxal 5’ Phosphate หรือ PLP ซึ่งเป็นโคเอนไซม์ทำหน้าที่ช่วยเอนไซม์ในการย่อยคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงสมอง รวมทั้ง PLP ยังช่วยการทำงานของเอนไซม์กว่าร้อยชนิด ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น วิตามินบี 6 จึงเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากในกลุ่มวิตามินบี ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ดังนี้
โดยทั่วไป ร่างกายเราได้รับวิตามินบี 6 จากการรับประทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอ อาทิเช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องใน ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช ปลาทะเล อาหารทะเล ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดวิตามินบี 6 มักมีสาเหตุมาจาก
ภาวะการขาดวิตามินบี 6 สามาถสังเกตได้จากอาการที่มีภาวะโลหิตจาง มีผื่นคัน แพ้ที่ผิวหนัง ริมฝีปากแห้ง มีภูมิต้านทานต่ำ ชาที่มือและเท้า สมองล้า และร่างกายอ่อนล้าไม่มีเรี่ยวแรง
ในช่วงต้น ค.ศ. 1900 มีงานวิจัยที่สำคัญพบว่า วิตามินบี 6 มีส่วนช่วยลดกระบวนการสร้างใหม่ของเซลล์ที่ทำให้ผิวหนังแห้ง และทำให้ดูแก่ก่อนวัย (Premature aging) ในปี 1934 นักชีวเคมีชาวอเมริกัน Paul Gyorgy ได้ทดลองให้หนูกินอาหารที่ปราศจากวิตามินบี 6 พบว่า หนูมีอาการแพ้ทางผิวหนัง หลังจากนั้น ได้ให้หนูกินอาหารที่มีวิตามินบี 6 ในระดับที่เหมาะสม ผลปรากฎว่า หนูไม่มีอาการภูมิแพ้อีกต่อไป … ต่อมา วิตามินบี 6 ถูกค้นพบว่า เป็นสารต้านฮีสตามีนธรรมชาติ (Anti-histamine) ซึ่งมีความสามารถในการลดภาวะการไม่ทนต่อฮีสตามีน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สารที่ช่วยลดอาการแพ้ทางผิวหนังซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือสัมผัสสิ่งกระตุ้นการแพ้โดยตรง
การตรวจภาวะการขาดวิตามินบี 6 สามารถทำได้โดยการวัดระดับ PLP ในเลือด หรือการตรวจ #ดีเอ็นเอ ในห้องปฏิบัติการ การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการขาดวิตามินบี 6 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีภาวะการขาดวิตามินบี 6 ที่มีสาเหตุจากโรคและการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อแนะนำทั่วไป (RDA) ร่างกายควรได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณ 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน และอาจเพิ่มปริมาณ 10 -20%* สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะการขาดวิตามินบี 6 (*ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของยีน ALPL ของแต่ละบุคคล) นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานวิตามินบี 6 ที่เป็นอาหารเสริมเพียงตัวเดียว ควรรับประทานวิตามินบี 6 ในรูปวิตามินบีรวม หรือ วิตามินบีคอมเพล็กซ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากการรับประทานวิตามินบี 6 มากเกินขนาด (มากกว่า 100 -300 มิลลิกรัมต่อวัน)
ที่มารูป: expertreviews
Smart Mobility – KinYooDee รวบรวมข้อมูลจราจรจากหลายแหล่งแบบเรียลไทม์ และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Traffic AI Data Fusion) ประมวลผลความเร็วของกระแสจราจร เพื่อใช้แจ้งเตือนสภาพการจราจรติดขัดในเส้นทางล่วงหน้า #TrafficAlert เตือนก่อนติดเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทาง …