Autoimmune

โรคแพ้ภูมิตัวเองกับโภชนบำบัด

เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายกลายเป็นศัตรู จนร่างกายได้รับความเสียหายหรือการบาดเจ็บ ที่เรียกว่า “แพ้ภูมิตัวเอง” หรือ “ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง”

โรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune disease) หรือโรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) หรือที่รู้จักกันว่า “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายที่แข็งแรง หรือจดจำว่าเซลล์ร่างกายเป็นสิ่งแปลกปลอมเหมือนเชื้อโรค (Antigen) ที่ต้องทำลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากร ประมาณ 5 ล้านคนทั่วโลก พบในประเทศไทย ประมาณ 40 คน ต่อ ประชากร 100,00 คน ต่อปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่คาดว่าจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ และสามารถพบได้ในทุกช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แม้ว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่หากสภาวะร่างกายสร้างระบบภูมิต้านทานผิดปกติ ก็สามารถแพ้ภูมิตนเองได้

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง มักรวมกันเพื่อกระตุ้นให้เกิดโรค ได้แก่

    • เพศ : เพศหญิงมากกว่าเพศชาย 9:1 โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์
    • ฮอร์โมน : โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen และ Progesterone)
    • พันธุกรรม : 10% จากตัวแปรทางพันธุกรรมหลายสิบชนิดที่เชื่อมโยง เช่น ยีน CD40 บนโครโมโซม X (โครโมโซมเพศ) Anti-dsDNA antibody เป็นต้น
    • สภาพแวดล้อม : แสงแดด มลพิษ สารเคมี
    • การติดเชื้อ

โรคแพ้ภูมิตัวเองสามารถเกิดความผิดปกติได้กับทุกส่วนของร่างกาย อาการของโรคจึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับส่วนที่ถูกทำลาย อาจจะทำลายส่วนเดียวของร่างกายหรือหลายส่วนพร้อมกันก็ได้ ประมาณ 50% ของผู้ที่เป็นโรคจะมี “ผื่นปีกผีเสื้อ (Butterfly rash)” บนใบหน้าเป็นเอกลักษณ์ของโรค โดยเฉพาะหลังโดนแดด อาการของโรคมีตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงมาก และอาจเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของอวัยวะที่ถูกทำลาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

    1. Major organ involvement: ภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ระบบประสาท ไต หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร และเลือด เป็นต้น อวัยวะเหล่านี้จะมีความรุนแรงมาก และอาจเสียชีวิตได้ เช่น ไตอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
    2. Non-major organ involvement: ภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เป็นต้น จัดเป็นความรุนแรงระดับน้อย (ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตมากนัก) ถึงปานกลาง เช่น ไข้ ผื่นผิวหนัง ปวดข้อหรือข้ออักเสบเล็กน้อย เป็นต้น

เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการเฉพาะ และอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ ทำให้การวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และจำเป็นต้องใช้การตรวจหลายอย่างร่วมกัน เช่น การตรวจ Antinuclear antibody (ANA) ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐานเพื่อวินิจฉัยโรค SLE แต่จำเป็นต้องการประเมินการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย (เนื่องจาก ANA มีส่วนจากอายุที่เพิ่มขึ้น) โดยใช้ Criteria ของ Systemic Lupus International Collaborating Clinics (SLICC) ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 4 ข้อ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ เป้าหมายหลักคือ ควบคุมการกำเริบ (อาการสงบของโรค) ให้ได้นานที่สุด โดยใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง หากภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะหลายส่วน ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น แสงแดด มลพิษ ความเครียด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ร่วมกับการดูแลพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ

โภชนบำบัดสำหรับโรคแพ้ภูมิตัวเอง ยังไม่มีผลวิจัยสำหรับอาหารที่ช่วยลดอาการของโรค อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม และได้สารอาหารที่เพียงพอ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรค ป้องกันการบาดเจ็บของร่างกาย และเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

จากการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย สารอาหารที่แนะนำและควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วย SLE สามารถสรุปได้ในตาราง

Recommended Per day Avoid Per day
โอเมก้า 3 (EPA) 5 g ไขมันอิ่มตัว 10 g
โอเมก้า 3 (DHA) 5 g โซเดียม 2000 mg
ไฟเบอร์ 25 g คอเลสเตอรอล 30 mg
แคลเซียม 1000 mg
วิตามิน D 10 ug
วิตามิน C 500 mg
วิตามิน E 800 IU (536 mg)

โดยสรุป โรคแพ้ภูมิตัวเองเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ สลับกัน อาการเบื้องต้นคล้ายกับหลาย ๆ โรค จำเป็นต้องใช้เวลานานในการวินิจฉัย ถึงแม้ว่ายังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การควบคุมอาการกำเริบเพื่อให้โรคสงบได้นานที่สุด สามารถทำได้โดยการดูแลพฤติกรรมสุขภาพองค์รวม สังเกตอาการตัวเองบ่อย ๆ รับประทานยาสม่ำเสมอ ติดตามการรักษาเป็นประจำ ไม่เจอแสงแดดโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้สมดุล และใส่ใจสารอาหารที่ได้รับ การรับรู้อาการของโรคและเข้าใจสภาวะร่างกายตนเอง จะทำให้รับมือกับอาการกำเริบได้ดีขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ การติดตามเฝ้าระวังตนเอง และการวินิจฉัยที่ทันเวลา จะเป็นผลดีต่อการรักษาและลดความเสียหายต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้

ที่มารูป : drmaggieyu