Nutrition for Cirrhosis

ตับแข็ง ภาวะตับเรื้อรังระยะสุดท้ายก่อนกลายเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในประเทศไทย และอันดับ 9 ของโลก – โรคตับแข็ง เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง “Hepatitis” หรือโรคตับเรื้อรัง “Chronic liver disease” จากหลายสาเหตุที่ทำลายเซลล์ตับ หลักการสำคัญในการเกิดภาวะตับอักเสบ คือ “การสร้างพังผืด” ในกระบวนการต้านการอักเสบเพื่อซ่อมแซมตัวเอง โดยกระตุ้น Hepatic stellate cell (เซลล์สร้างพังผืด) เกิดการสร้างผังผืด (Fibrosis) จากการบาดเจ็บซ้ำ ๆ ทำให้ปริมาณพังผืดแทนที่เนื้อเยื่อตับมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะที่แข็งกว่า จนเซลล์ตับมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้ตามปกติ โรคตับแข็งเกิดจากหลายสาเหตุที่กระตุ้นให้เซลล์ตับได้รับความเสียหาย และพัฒนากลายเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

    1. Fatty Liver : ภาวะที่มีไขมันสะสมในเซลล์ตับมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ (300-600 กรัม) เป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายในเซลล์ตับ สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมที่สามารถป้องกันได้ ระยะนี้จะยังไม่มีการอักเสบเกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
      • ไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (AFLD) : สาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 60-70% จากพฤติกรรมของคนไทยที่ดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้ากลั่น) สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
      • ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) : เกี่ยวข้องกับอาการเมตาบอลิซึม เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม
    1. Hepatitis : ระยะที่มีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นด้วยสาเหตุต่าง ๆ
      • การติดเชื้อไวรัสตับต่าง ๆ ประมาณ 10-20% (1 ใน 12 ของประชากร) เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี (HBV และ HCV) รวมถึงการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ
      • การอักเสบจากการสะสมไขมัน (พอกตับ) เป็นเวลานาน (Lipid oxidative stress)
      • โรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune)
      • การอุดตันของท่อน้ำดี (Biliary cirrhosis)
    1. Fibrosis : ระยะที่เปลี่ยนจากโรคตับอักเสบเรื้อรังไปสู่โรคตับแข็ง จากการสร้างพังผืดแทนที่เนื้อเยื่อตับ เซลล์ตับลดลงจนไม่เพียงพอที่จะทำหน้าตามปกติได้ มีลักษณะเหมือนแผลเป็นที่ตับ
    2. Cirrhosis : ภาวะตับแข็งจากการสะสมผังผืดเป็นเวลานาน แบ่งเป็น 2 ระยะ
      • Compensated การทำงานของตับยังไม่ถดถอยมาก ยังสามารถทำหน้าที่สำคัญได้บ้าง อาการอาจยังไม่ชัดเจนมากนัก
      • Decompensated การทำงานของตับลดลงมากจนไม่สามารถทำหน้าสำคัญต่าง ๆ ได้ มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องมาน (Ascites) ดีซ่าน (Jaundice) หลอดเลือดดำโป่งพอง (Varices) เลือดออกในช่องท้องหรือทางเดินอาหาร (Hemorrhage) ไข้สมองอักเสบ (Hepatic encephalopathy)
    1. Cancer ระยะที่เป็นการลุกลามสุดท้ายของโรคตับที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ

ตับ (Liver) เป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุด (1.5-2 กิโลกรัม) มีการทำงานมากที่สุดรองจากสมอง บทบาทที่ใหญ่ที่สุดของตับคือ “การกรองเลือด” โดยกรองเลือดมากกว่า 1 ลิตรต่อนาที หน้าที่สำคัญส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญ เปลี่ยนอาหารเป็นพลังงานและสารอาหารตามสัดส่วนความต้องการของร่างกาย พร้อมทั้งกำจัดของเสียออกผ่านน้ำดี (อุจจาระ) และเลือด (ปัสสาวะ) เรียกได้ว่า “เป็นทั้งแหล่งเผาผลาญ แหล่งจัดเก็บสารอาหาร และกำจัดสารพิษ” ของร่างกาย ดังนั้น ทุกอย่างที่เข้าสู่ร่างกายผ่านกระบวนการย่อย ต้องผ่านตับก่อนถูกส่งไปใช้งานยังอวัยวะต่าง ๆ  หากการทำงานของตับสูญเสียไป ไม่เพียงแต่ขาดแหล่งกำจัดสารพิษ แต่เปรียบเสมือนสูญเสียโรงงานขนาดใหญ่ของร่างกายที่ผลิต กักเก็บ และเปลี่ยนสารประกอบต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานทั้งหมดของร่างกาย โดยทั่วไป ตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้จากการบาดเจ็บเล็กน้อย จึงไม่ค่อยแสดงอาการใด ๆ ความผิดปกติของตับมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำ การทำอัลตราซาวนด์ เมื่อได้รับความเสียหายรุนแรงถึงจะแสดงอาการที่ชัดเจน

    • อาการเบื้องต้น : เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ สีผิวเข้มขึ้น
    • อาการรุนแรง : ปวดแน่นใต้ชายโครงขวาจากภาวะตับโต ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม หรือดีซ่าน ตัวบวม เท้าบวม หรือท้องมาน ความดันพอร์ทัลสูง (Portal Hypertension) จากหลอดเลือดที่เลี้ยงตับผิดปกติ สับสน มึนงง ความจำเสื่อม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือไข้สมองอักเสบ

การตรวจพบและประเมินระดับความสูญเสียการทำงานของตับ (Liver function test)

    • ALT (Aspartate transaminase) หรือ SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) เพื่อยืนยันอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคตับ
    • AST (Alanine transaminase) หรือ SGPT (Serum glutamate-pyruvate transaminase) เพื่อตรวจสอบความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตับ
    • Child-Turcotte-Pugh (CTP) ประเมินประสิทธิภาพและความรุนแรงของโรคตับจากผลการตรวจเลือด
    • Model for End-Stage Liver Disease (MELD) scores สำหรับการพยากรณ์โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้ายในผู้ที่ไม่ได้ปลูกถ่ายตับ
    • การตรวจชิ้นเนื้อตับ (ฺBiopsy) ถือเป็นการวินิจฉัยที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคตับแข็ง คือการหาสาเหตุของโรค ภาวะตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เว้นแต่การปลูกถ่ายตับ แต่การรักกษาตามสาเหตุของโรคสามารถทำให้การทำงานของตับดีขึ้นได้ เช่น แอกอฮอล์ การติดเชื้อไวรัส หรือโรคประจำตัว (โรคอ้วน โรคเบาหวาน) โดยเป้าหมายหลักในการรักษาคือ การป้องกันโรคแทรกซ้อนและการกลายเป็นมะเร็ง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ “ภาวะทางโภชนาการ” เนื่องจากโรคตับแข็งมักตามมาด้วยภาวะทุพโภชนการ ประมาณ 20-60% ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการลุกลามของโรค โดยเฉพาะภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย สาเหตุต่าง ๆ ของภาวะทุพโภชนาการในโรคตับแข็งไม่เพียงแต่จากการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ยังรวมถึงอาหารของโรคและการเผาผลาญที่ผิดปกติ อีกทั้งยังมีการเผาผลาญที่มากกว่าคนปกติอีกด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาและเสริมสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการตามสภาวะของโรค

เมื่อตับสูญเสียการทำงาน จะส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญและภาวะทางโภชนาการ ดังนี้

    • เซลฃ์ตับลดลง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนกลูโคส ส่วนเกินเพื่อเก็บในรูปไกลโคเจน (Glycogen) ได้ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง
    • ในสภาวะอดอาหาร ไม่มีไกลโคเจนเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ส่งต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และเกิดกระบวนการ Gluconeogenesis ที่สลายโปรตีนกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะ BCAA: กรดอะมิโนสายกิ่ง) เป็นพลังงานแทน ทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะทุพโภชนาการ
    • ไม่สามารสร้างน้ำดีที่ใช้ในการย่อยไขมันได้ ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (Vitamin A, D, E และ K) ทำให้ขาดวิตามินดังกล่าวในการส่งเสริมการทำงานของร่างกาย
    • ไม่สามารถเผาผลาญแอมโมเนีย (NH3) สารพิษจากการสลายโปรตีน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะแทรกซ้อนไข้สมองอักเสบ

จะเห็นได้ว่า เมื่อตับสูญเสียการทำงานจะส่งผลโดยตรงต่อภาวะทางโภชนการ และยังส่งผลกระทบต่อภาวะของโรคที่ถดถอย ตามแนวทางปฏิบัติของ ESPEN โภชนาการทางคลินิกในโรคตับ (สำหรับโรคตับแข็ง) สรุปไว้ดังนี้

Recommend Requirement Guidance
Meal frequency (meal/d) 4-6 เพื่อลดเวลาอดอาหาร และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มมื้อว่างก่อนนอนและไม่งดมื้อเช้า ป้องกันการเกิด Gluconeogenesis
Energy (kcal/kg/d) 35 – 40 มีการใช้พลังงานสูงในการต้านการอักเสบและการเผาผลาญที่ผิดปกติ
Protein (g/kg/d) 1.2 – 1.5 ป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
BCAA* (g/kg/d) 0.25 เมื่อไม่สามารถทนต่อโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ หรือมีภาวะไข้สมองอักเสบ และยังส่งเสริมการสร้างมวลกล้ามเนื้อ
Thiamine (B1) 1.5 ป้องกันความผิดปกติของระบบประสาท
Vitamin A (IU/d) 25,000 4-8 สัปดาห์ พร้อมติดตามเสมอ เนื่องจากสามารถเพิ่มการสร้างพังผืดได้
Vitamin D (IU/d) 2,000 5,000 IU/d ในผู้ที่ขาดวิตามิน D เป้าหมายในระดับซีรั่มไม่น้อยกว่า 30 ng/mL
Vitamin E (mg/d) 10 ควรได้รับตามปริมาณ DRI ทุกวันอย่างพียงพอ เนื่องจากตับไม่สามารถกักเก็บได้ ป้องกันภาวะโลหิตจาง และเลือดออกในทางเดินอาหาร
Vitamin K (ug/d) 80
Zinc (mg/d) 50 แก้ไขการรับรสที่ผิดปกติ (Dysgeusia) ปริมาณที่มากเกินไปส่งผลขัดขวางการดูดซึม Copper
Magnesium (mg/d) 400 ป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
Avoid Requirement Guidance
Alcohol (mg/d) 10 ควรงดอย่างเด็ดขาดในผู้ที่มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์
Sodium (mg/d) 2000 ป้องกันการเกิดอาการบวม และ Ascites
Caffeine (mg/d) 200

หมายเหตุ ใช้น้ำหนักอุดมคติ (IBW) ในการคำนวณพลังงานและสารอาหาร (IBW = ส่วนสูง (m)2 x 22) , *BCAA: Branched-chain Amino Acid กรดอะมิโนสายกิ่ง

นอกจากนี้ การลดพลังงานลง 500-800 kcal จากความต้องการต่อวันในผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นผลที่ดีขึ้นต่อการทำงานของตับอีกด้วย การบริโภคใยอาหารที่เพียงพอช่วยลดความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ได้รับความสนใจในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Dysbiosis) เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในแง่ที่ก่อให้เกิความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง ผลการศึกษาวิจัยของ Yang X และคณะ (2024) แสดงให้เห็นว่า โพรไบโอติกส์กลุ่ม Streptococcus, Bifidobacterium และ Lactobacillus มีประสิทธิภาพในการบรรเทาภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับแข็งได้ โดยเฉพาะภาวะไข้สมองอักเสบ โดยประเมินจาก Model for End-Stage Liver Disease (MELD) scores ที่ลดลง และซ่อมแซมเกราะป้องกันของลำไส้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ AST ALT และ Child-Turcotte-Pugh (CTP)

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การเสริมภาวะโภชนาการที่เพียงพอ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางการสนับสนุนและช่วยส่งเสริมการทำงานของตับที่ดี การออกกำลังกายแบบผสมผสานระหว่างแอโรบิคและแรงต้านในระดับปานกลางเป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีภาวะความดันพอร์ทัลสูง การลดน้ำหนัก 5-10% ถือเป็นเป้าหมายที่เพียงพอและทำให้การลุกลามของโรคช้าลง งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และสนับสนุนพฤติกรรมการแบ่งมื้ออาหารย่อย ๆ วันละหลายมื้อ โดยเป้าหมายหลักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ เพิ่มและป้องกันการสลายของกล้ามเนื้อ

โดยสรุป ตับแข็งเป็นโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้ายจากทุกสาเหตุ โดยมีกระบวนการหลักคือ การสร้างพังผืด (Fibrosis) จากการบาดเจ็บซ้ำ ๆ สาเหตุหลักมาจากแอลกอฮอล์ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี และกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง การรักษามีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค มักไม่แสดงอาการจนกว่าจะได้รับความเสียหายรุนแรง ดังนั้น ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ ความผิดปกติในระยะเริ่มต้นยังช่วยป้องกันความรุนแรงและการลุกลามได้ เป้าหมายหลักในการรักษาคือป้องกันภาวะแทรกซ้อน โรคตับแข็งมักตามมาด้วยภาวะทุพโภชนาการจากอาการของโรคและการเผาผลาญที่ผิดปกติ โดยเฉพาะภาวะ Sarcopenia จึงมีความต้องการพลังงานและโปรตีนสูง แต่มีความสามารถในการสะสมพลังงานน้อย จึงควรแบ่งย่อยมื้ออาหารเป็น 4-6 มื้อต่อวัน และมีมื้อก่อนนอนที่ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อป้องกันภาวะ Gluconeogenesis นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักสามารถชะลอการลุกลามของโรค ปรับคุณภาพชีวิต และเพิ่มระยะเวลาการอยู่รอดได้

Clostridium Butyricum

คลอสตริเดียม บิวทิริคัม โพรไบโอติกส์ที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและสร้างภาวะสมดุลในร่างกาย

คลอสตริเดียม บิวทิริคัม Clostridium Butyricum (C. butyricum) เป็นแบคทีเรีย Anaerobic ที่สามารถสร้างสปอร์ได้โดยไม่ใช้ออกซิเจน C. butyricum เป็นการตั้งชื่ออันเนื่องมาจากหน้าที่ในการผลิตบิวทิเรต โดยการหมักใยอาหารในลำไส้และสร้างกรดไขมันสายสั้น (SCFAs) เช่น บิวทิเรต อะซิเตท และโพรพิโอเนต

Clostridium เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่โดยทั่วไปมักถูกมองว่าเป็นศัตรูของร่างกาย โดยเฉพาะสายพันธุ์ C. difficile, C. perfringens และ C. botulinum ซึ่งเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท แบคทีเรียกลุ่ม Clostridium แบ่งเป็น 19 คลัสเตอร์ โดยมี คลัสเตอร์ XIVa (กลุ่ม C. coccoides) และคลัสเตอร์ IV (กลุ่ม C. leptum) ที่โดดเด่นในลำไส้ และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ รวมถึงบางสายพันธุ์ในคลัสเตอร์ I (C. butyricum) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10-40 ของจุลินทรีย์ในลำไส้ ด้วยความรุนแรงในการก่อโรคของแบคทีเรียกลุ่ม Clostridium ทำให้สายพันธ์ุที่เป็นประโยชน์อย่าง C. butyricum มักจะถูกลืมว่าเป็น “Symbiont” ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสัมพันธ์กับโฮสต์ของมนุษย์ หมายความว่า “ร่างกายช่วยให้มันเติบโตอยู่รอด และมันก็ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย”

Clostridium butyricum สร้างระบบภูมิคุ้มกัน

C. butyricum เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่อยู่ในดินและระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ บทบาทของ C. butyricum มีศักยภาพต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ในฐานะผู้ผลิต SCFAs โดยเฉพาะ “บิวทิเรต” เป็นตัวหลักในการป้องกันการอักเสบและเสริมสร้างการทำงานของระบบภุมิคุ้มกัน นอกจากนี้ C. butyricum ยังกระตุ้นจุลินทรีย์อื่น ๆ ในลำไส้ที่ผลิต SCFAs อีกด้วย ซึ่ง SCFAs ที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ในลำไส้นั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการมีสุขภาพดี เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์เยื่อเมือกในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการบุกรุกของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะในร่างกาย มีผลในกระบวนการอักเสบ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ C. butyricum ยังช่วยเสริมสร้างความหนาของชั้น Mucus layer (ด่านแรกในการป้องกันการบุกรุกของเชื้อโรค) โดยเพิ่มการแสดงออกของ MUC2 (ผลิตเมือกในทางเดินอาหาร) เพื่อป้องกันการซึมผ่านของเชื้อโรคในชั้นเยื่อบุลำไส้ และฟื้นฟูการทำงานของ Regulatory T cell หรือ Treg cell เพื่อรักษาสมดุลภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นการหลั่ง IL-10 (ไซโตไคน์ต้านการอักเสบ) และยับยั้งการผลิตไซโตไคน์ที่ตอบสนองต่อการอักเสบ เช่น IFN-Y, IL-6 และ IL-17

นอกจากนี้ C. butyricum ยังมีบทบาทในการสนับสนุนระบบประสาทและสุขภาพจิตผ่านแกนลำไส้และสมอง (Gut-brain axis) ผ่านเส้นประสาทเวกัส (Vegus nerve) และยังได้รับความสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่อความผิดปกติของการเผาผลาญ การเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวาน โดย SCFAs ที่ได้จากจุลินทรีย์นั้น กระตุ้นเส้นประสาท Vagal afferent ซึ่งเป็นวิถีการควบคุมการเผาผลาญพลังงานและสภาวะสมดุลของกลูโคส ส่วน บิวทิเรต เพิ่มการหลั่งฮอร์โมน GLP-1 ในกระเพาะอาหาร เปิดการใช้งานของ IRS-1/Akt pathway เพิ่มการตอบสนองของอินซูลิน เกิดการรักษาภาวะสมดุลของน้ำตาลในเลือดและลดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในโรคเบาหวาน ในขณะเดียวกัน ฮอร์โมน GLP-1 ยังช่วยทำให้มีความอยากอาหารลดลง ซึ่งเป็นผลดีในการรักษาน้ำหนักและโรคอ้วน จะเห็นได้ว่า บิวทิเรต และ SCFAs มีอิทธิพลต่อภาวะสมดุลต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่เพียงแต่ระบบภูมิคุ้มกัน

โพรไบโอติกส์ C. butyricum MIYAIRI (CBM588)

C. butyricum MIYAIRI 588 หรือ CBM 588 เป็นสายพันธ์ุที่แยกได้ครั้งแรกจากอุจจาระของมนุษย์ที่มีสุขภาพดี ในปี 1933 โดย Dr. Chikaji MIYAIRI และต่อมาใช้เป็นโพรไบโอติกส์ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มีฤทธิ์บรรเทาความรุนแรงของอาการท้องเสียที่เกิดยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เช่น Clindamycin ที่ไปลดจำนวนจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการยับยั้งเชื้อ C. difficile ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการท้องร่วง ในกลุ่มแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรต มีเพียง C. butyricum ที่ใช้เป็นโพรไบโอติกส์ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในยุโรป เนื่องด้วยคุณสมบัติที่เป็นมิตรกับโฮสต์ (Symbiosis) ไม่ตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันตัวเอง สามารถเอาตัวรอดได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และรักษาสุขภาพของลำไส้ แต่สำหรับการใช้เป็นโพรไบโอติกส์ในประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ถึงแม้ว่า ผลการศึกษาของ C. butyricum จะเป็นประโยชน์มากมาย แต่ผลลัพธ์ที่ชัดเจนทางคลินิกคือ ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียที่เกิดจากยาปฏิชีวนะ หรือจากเชื้อ C. difficile ส่วนผลลัพธ์ต่อระบบอื่น ๆ นั้น ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอว่าเป็นผลจาก C. butyricum โดยตรง หรือเป็นผลจาก SCFAs อย่างไรก็ตาม สภาวะไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Dysbiosis) เป็นที่ชัดเจนว่าทำให้เกิด “ความเสียหายของลำไส้” ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผิดปกของร่างกาย ไม่ว่าเป็นระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบเผาผลาญ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุโรคมะเร็งลำไส้ นอกจาก C. butyricum จะผลิตบิวทิเรตแล้ว ยังช่วยปรับเปลี่ยนองค์ประกอบโดยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อย่าง Lactobacillus และ Bifidobacterium ที่เป็นพื้นฐานของโพรไบโอติกส์อีกด้วย สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ใยอาหาร (Fiber) ที่เป็นแหล่งอาหารหลักของแบคทีเรียในลำไส้เพื่อใช้ในการหมักเป็น SCFAs หรือกรดไขมันสายสั้นนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า C. butyricum ได้รับความสนใจและมีการศีกษาถึงผลประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างกว้างขวาง นอกจากสายพันธุ์ MIYAIRI 588 ที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติกส์แล้ว การศึกษาทางคลินิกอื่น ๆ ของ C. butyricum ในการรักษาโรคลำไส้อักเสบ โรคทางระบบประสาท สุขภาพจิต และโรคทางเมทาบอลิก ยังคงมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น คือ การเสริม C. butyricum ในการรักษาโรคที่กล่าวมาข้างต้น สร้างผลลัพธ์ต่ออาการของโรคที่ดีขึ้น ด้วยคุณสมบัติของบิวทิเรต และกรดไขมันสายสั้น เนื่องด้วย C. butyricum มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอันตรายต่ำ จึงกลายเป็นประเด็นการศึกษาที่น่าสนใจในการนำมาปรับใช้ทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม C. butyricum เกี่ยวข้องกับสภาวะสมดุลของภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มากเกินไป สามารถย้อนกลับมาทำลายภูมิคุ้มกันตัวเองได้ และจุลินทรีย์บางสายพันธ์สามารถก่อโรคในทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ เพื่อความปลอดภัย ควรศึกษาถึงชนิด (Species) และสายพันธุ์ (Stains) ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดโรค และไม่ควรมองข้ามการรับประทานผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารที่เพียงพอต่อการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากนี้ ความเครียดและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ก็ส่งผลต่อความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยเช่นกัน

ที่มารูป : Harvard Medical School

Vitamin K

วิตามิน K มีความสำคัญที่มิใช่เพียงทำให้เลือดแข็งตัว

วิตามินเค (Vitamin K) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน และเป็นที่รู้จักในนาม วิตามินเพื่อการแข็งตัวของเลือด “Coagulation” จากการสังเคราะห์ Gla protein และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ เพื่อช่วยคงการแข็งตัวของเลือดให้เป็นไปตามปกติ วิตามิน K ในธรรมชาติมี 2 ประเภท ได้แก่ วิตามิน K1 (Phylloquinone หรือ PK) พบในพืช  โดยเฉพาะผักใบเขียว เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด และเป็นประเภทของวิตามิน K ส่วนใหญ่ที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหาร และวิตามิน K2 (Menaquinone หรือ MK) สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ เกี่ยวข้องกับสุขภาพกระดูกและหลอดเลือด มีความยาวของสายที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ MK-1 ถึง MK-13 ความยาวที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการละลายในไขมันที่มากขึ้น และอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น โดยรูปแบบที่ดีที่สุด คือ MK-7 และยังมีชนิดสังเคราะห์ทางเคมี Menadione (K3) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ K2 (ใช้สำหรับทางการแพทย์)สังเกตด้วยว่า นอกจาก Vitamin K จะเป็นกุญแจสำคัญในการแข็งตัวของเลือด ยังสัมพันธ์กับสุขภาพกระดูกและระบบหลอดเลือด จากการทำงานของ Vitamin K2 (MK) ร่วมกับ Vitamin D (D3)

สุขภาพกระดูก

Vitamin K2 (MK-7) กระตุ้นเซลล์สร้างกระดูก ให้มากกว่าเซลล์สลายกระดูก ในกระบวนการ Bone Remodeling (ซึ่งมีการสร้างและสลายกระดูกทดแทนกันตลอดเวลา) ทำให้สามารถป้องกันการสลายของกระดูกได้ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับ Vitamin D เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก โดย Vitamin D ช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่หลอดเลือด และมี Vitamin K2 (MK-7) ทำหน้าที่ในการนำพาแคลเซียมที่อยู่ตามหลอดเลือดไปยัง Osteocalcin ไปยังกระดูก (Bone) เพื่อเพิ่มความแข็งแรง หาก Vitamin K2 ต่ำ จะทำให้กระดูกบาง และเกิดการแตกหักของกระดูกได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้สูงอายุ

สุขภาพหลอดเลือด

จากแคลเซียมที่ถูกดูดซึมโดย Vitamin D เข้าสู่หลอดเลือด (ซึ่งยังไม่ใช่ปลายทางของแคลเซียม) อาจเกิดการสร้างหินปูนเกาะตามผนังหลอดเลือดได้ (Calcium Vascular Calcification) และเป็นสาเหตุของหลอดเลือดแข็งตัว ทั้งนี้ Vitamin K2 (MK-7) จะทำหน้าที่ในการนำพาแคลเซียมจากผนังหลอดเลือดไปสะสมยังกระดูก (ซึ่งเป็นปลายทางของแคลเซียม) ทำให้หลอดเลือดสามารถลำเลียงเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ

จะเห็นได้ว่า Vitamin K2 และ Vitamin D3 สัมพันธ์โดยตรงต่อการเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด การขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนและภาวะหลอดเลือดแข็งตัวได้ เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ ยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับ Vitamin K จากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ยกตัวอย่างเช่น

การป้องกันระบบประสาทและภาวะสมองเสื่อม

การศึกษาวิจัยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ Vitamin K1 สัมพันธ์กับ Vitamin K2 ที่มีส่วนช่วยในป้องกันการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดสมอง และด้วยคุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันการตายของเซลล์จาก Beta-amyloid (โปรตีนที่ขัดขวางการส่งสัญญาณประสาท) และลดความเครียดของปฎิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้

คุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

Vitamin K2 โดยเฉพาะ MK-7 และ MK-9 มีส่วนช่วยในการยับยั้งการหลั่ง Cytokine ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบและเกี่ยวข้องกับการลุกลามของมะเร็ง โดยป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่า การเสริม Vitamin K หลังการรักษายังช่วยให้โอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคลดลง ดังนั้นการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับ Vitamin K อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งได้

ตัวอย่างอาหารที่มี Vitamin K สูง

แหล่งอาหาร ปริมาณต่อ 100 กรัม (ไมโครกรัม)
ผักโขม 1710
นัตโตะ (Natto) 1103
ผักปวยเล้ง 483
คะน้า 390
กุยช่าย 213
กะหล่ำดาว 177
ผักกาดหอม 126
บร็อคโคลี 102
กะหล่ำปลี 59
ถั่วเหลือง 47
กิมจิ 44
อะโวคาโด 21

ข้อมูลอ้างอิง : UDSA https://fdc.nal.usda.gov/index.html

ถึงแม้ว่าอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งของ Vitamin K1 แต่ใยอาหารในผักผลไม้นั้นเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Probiotics) ซึ่งสังเคราะห์ Vitamin K2 ดังนั้น Vitamin K1 สามารถเปลี่ยนไปเป็น Vitamin K2 ได้ ตามค่าแนะนำ DRI (Daily Reference Intake) ควรบริโภค Vitamin K 80 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการแข็งตัวของเลือดให้เป็นไปตามปกติ แต่สำหรับสุขภาพกระดูกและหลอดเลือดนั้น แนะนำให้บริโภค 200 ไมโครกรัม ร่วมกับ Vitamin D 1,000 IU หรือ 25 ไมโครกรัมต่อวัน

Vitamin K มีส่วนสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ความแข็งแรงของกระดูก และสุขภาพหลอดเลือดอย่างชัดเจน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการก่อให้เกิดลิ่มเลือด ส่วนประโยชน์ทางระบบประสาทและการต้านมะเร็งนั้น มีเพียงการศึกษาจำนวนน้อยและยังไม่มีการระบุผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยในสัตว์ทดลองนั้น Vitamin K มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและมะเร็งได้ และอันตรายจากอาหารเสริม Vitamin K นั้นค่อนข้างต่ำ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ผู้ป่วยที่ได้รับยา Warfarin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ซึ่งจะทำงานตรงข้ามกัน ปริมาณ Vitamin K ที่สูง และจะรบกวนการออกฤทธิ์ของยา Warfarin ได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มี Vitamin K แต่อย่างใด สารอาหารอื่น ๆ จากผักใบเขียวนั้นยังจำเป็นต่อร่างกาย เพียงแค่ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกวัน และไม่ปรับขนาดยา Warfarin ด้วยตนเอง

Calories distribution

อาหารที่มีแคลอรี่เท่ากัน ส่งผลกระทบต่อร่างกายต่างกัน และแหล่งพลังงานของอาหารที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลต่อการนำไปใช้ของร่างกายไม่เหมือนกัน

ความท้าทายในการลดหรือรักษาน้ำหนักที่มีมาอย่างยาวนาน และเพิ่มขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน ในขณะที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจกับการลดน้ำหนักมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเมทาบอลิก (Metabolic syndrome) ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เสมือนว่า “ยิ่งพยายาม ยิ่งล้มเหลว” บ่อยครั้งที่ความพยายามของหลายต่อหลายคนไม่ประสบผลสำเร็จ หรือเป็นผลเพียงระยะสั้น ๆ และส่วนน้อยมากที่จะรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ได้ หรือจะเป็นไปได้ว่าความพยายามเหล่านี้ เกิดจากความผิดพลาดหรือความเข้าใจผิดของวิธีการ ทำให้ไม่เป็นผลต่อการเปลี่ยนน้ำหนักตัวที่มีประสิทธิภาพ

หลายคนสงสัยว่า ทำไม “ทานอาหารเท่าเดิม แต่น้ำหนักเพิ่มขึ้น” หรือ “ทานน้อยกว่าเดิม แต่น้ำหนักก็ไม่ลดลง บ้างก็มากกว่าเดิม” โดยตามหลัก “Calories in – Calories out” หรือ “Energy balance” การจำกัดพลังงาน การจำกัดเวลารับประทาน (Intermittent Fasting : IF) และรูปแบบอื่น ๆ ล้วนมีผลการเปลี่ยนแปลง แต่มักเป็นผลเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แน่นอนว่าน้ำหนักที่ลดลงคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่เป้าหมายที่มากกว่า คือ รูปร่างที่ดีและสมส่วนที่คงอยู่ยาวนานอย่างมีประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพในการลดและรักษาน้ำหนัก เพียงแค่จำกัดแคลอรี่ จริงหรือ ?

    • พลังงานที่ได้รับ >   พลังงานที่ใช้   =   น้ำหนักเพิ่มขึ้น
    • พลังงานที่ได้รับ <   พลังงานที่ใช้   =   น้ำหนักลดลง
    • พลังงานที่ได้รับ =   พลังงานที่ใช้   =   น้ำหนักคงที่

สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักตัว และยังคงอาศัยตัวช่วยจากวิตามินและเกลือแร่ ตามหลัก “Energy balance” หลายคนมีความเข้าใจว่า การจำกัดพลังงานที่ได้รับให้น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ก็เพียงพอต่อการลดน้ำหนักได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงแหล่งของสารอาหารนั้น ๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าพลังงานจะเท่ากัน แต่ร่างกายนำไปใช้ต่างกัน (ปฏิกิริยาร่างกาย) ขึ้นอยู่กับแหล่งของสารอาหาร ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวและเกิดประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสัดส่วนร่างกาย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาโรคทางเมทาบอลิก

แนวทางและวิธีการลดน้ำหนักได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะด้านโภชนาการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักและมีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย แต่ความเข้าใจผิดด้านโภชนาการของผู้บริโภคนั้นยังคงมากมาย แน่นอนว่าการจำกัดพลังงาน เป็นพื้นฐานของน้ำหนักตัวที่ลดลง แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ “แหล่งของสารอาหาร” และ “สัดส่วนการกระจายพลังงาน (Energy distribution)” ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย

ความหนาแน่นของสารอาหาร (Nutrient density) : อาหารที่มีแคลอรี่เท่ากัน แต่ความหนาแน่นของสารอาหารต่างกัน ผักและผลไม้ 100 แคลอรี่ ให้สารอาหารมากกว่าอาหารสำเร็จรูปที่มี 100 แคลอรี่เท่ากัน โดยเฉพาะวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร

การเผาผลาญ (Metabolic effect) : ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยและดูดซึมสารอาหารแตกต่างกัน โดยใช้กับโปรตีน 20-30% คาร์โบไฮเดรต 5-10% และไขมัน 0-3% หากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตและไขมันมากเกินไป ส่วนที่ย่อยไม่หมดจะเกิดการสะสมในรูปไขมันตามร่างกาย ส่งผลต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

ค่าดัชนีน้ำตาล (GI) : อาหารที่มีค่า GI ต่ำมักเป็นกลุ่มที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช ช่วยรักษาความไวของอินซูลิน ลดการตอบสนองต่อน้ำตาลในเลือด ส่งผลต่อความหิวที่ลดลง

ชนิดของไขมัน : ถึงแม้ว่าไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวจะให้พลังงานเท่ากัน แต่การนำไปใช้ต่างกัน ไขมันไม่อิ่มตัวมีโครงสร้างที่หละหลวม ย่อยได้ง่าย ไม่เกิดสารสะสมในร่างกาย ลดขนาดเซลล์ไขมัน  อีกทั้งเป็นแหล่งของโอเมก้า โดยเฉพาะโอเมก้า-3 ซึ่งมีคุณสมบัติลดการอักเสบที่เกิดจากกระบวนการต่างๆในร่างกาย และยังลดการดื้อต่ออินซูลิน

โปรตีนไขมันต่ำ : โปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนพบในเนื้อสัตว์เป็นหลัก ซึ่งมีไขมันร่วมด้วย ดังนั้นควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนัง ไม่ติดมัน หรือแหล่งโปรตีนจากพืชที่หลากหลายเพื่อคงความครบถ้วนของกรดอะมิโนจำเป็น เสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพิ่มการเผาผลาญพลังงานร่างกาย (ร่างกายใช้พลังงานได้มากขึ้น)

ความอิ่ม : แคลอรี่ที่เท่ากัน ให้ความอิ่มที่ต่างกัน อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและใยอาหารใช้พลังงานและเวลาในการย่อยและดูดซึมมากกว่าคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ทำให้ความอิ่มได้นานกว่า ส่งผลต่อการบริโภคพลังงานลดลง

ผลต่อสุขภาพระยะยาว : ความหลากหลายของสารอาหารในอาหารที่มีแคลอรี่เท่ากัน โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ เป็นตัวช่วยในการซ่อมแซมและรักษาสุขภาพโดยรวม

นอกจากนี้ ผลวิจัยแสดงถึงผลการกระจายสัดส่วนพลังงาน การลดสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มสัดส่วนโปรตีนในอาหารที่มีไขมันเท่ากัน เป็นผลต่อการลดน้ำหนักตัวและมวลไขมัน (โดยเฉพาะมวลไขมันในช่องท้อง) ได้มากกว่า (คาร์โบไฮเดรต 40% โปรตีน 30% และไขมัน 30%) โดยยังคงใส่ใจถึงแหล่งของสารอาหาร คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ใยอาหารสูง โปรตีนไขมันต่ำ และไขมันไม่อิ่มตัว นอกจากน้ำหนักตัวที่ลดลง ยังเป็นประสิทธิภาพในการรักษาน้ำหนักตัวระยะยาวอีกด้วย อีกทั้งยังลดและป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมทาบอลิก เช่น ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดความดัน เพิ่ม HDL การทำงานของหัวใจดีขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพในการควบคุมฮอร์โมนหิว-อิ่ม (Ghrelin-Leptin) อย่างไรก็ตาม การบริโภคโปรตีนที่สูงเกินไป (>2.5 กรัม/น้ำหนักตัว) อาจเพิ่มการทำงานของไตในคนที่มีสุขภาพดีได้ และไม่แนะนำสำหรับผู้ที่มีค่าไตถดถอย เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตที่ต่ำเกินไป (น้อยกว่า 40%) เป็นผลข้างเคียงต่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อ่อนเพลีย หน้ามืด ปวดศีรษะ หรืออาจหมดสติได้ ไม่แนะนำในผู้ที่เป็นเบาหวาน

โดยสรุป การลดและรักษาน้ำหนักที่มีประสิทธภาพ ไม่เพียงแต่จำกัดแคลอรี่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญกว่าคือแหล่งที่ได้มาซึ่งสารอาหาร เนื่องจากร่างกายมีกระบวนการนำไปใช้ไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อน้ำหนักตัวลดลงต่างกัน และยังเป็นส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว ความไวในการลดน้ำหนักไม่ใช่ตัวชี้วัดของสุขภาพที่ดี การลดน้ำหนักที่เหมาะสม คือ 0.5-1 กิโลกรัม/สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาหารไม่ใช่ปัจจัยเดียวสำหรับการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย และการพักผ่อนก็เป็นส่วนสำคัญในการใช้พลังงานและซ่อมแซมระบบการเผาผลาญของร่างกายด้วย

ที่มารูป : lanermc

Meal-frequency

Should I be eating every few hours?

ควรกินบ่อย ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือกินแค่ 1-2 มื้อต่อวัน ถึงจะส่งต่อสุขภาพดีและลดน้ำหนักได้มากกว่ากัน ? อาหารเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายและสำคัญต่อสุขภาพ อาหารที่ดีอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน นอกจากสารอาหารครบ 5 หมู่ จังหวะเวลา (Meal time) และจำนวนมื้ออาหาร (Meal frequency) ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพเช่นกัน เนื่องจากการอดอาหารมากกว่า 4 ชั่วโมง ระบบเผาผลาญของร่างกายจะลดลง 30% ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวเองจากการอดอาหาร และเป็นเหตุผลว่า การรับประทานอาหารมื้อเช้า หลังตื่นนอนประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จึงเป็นสิ่งสำคัญ และส่งผลช่วยในการลดน้ำหนัก

ร่างกายมีวงจรระบบการทำงานที่เรียกว่า Biological clock หรือ “นาฬิกาชีวภาพ”ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การหลับ-ตื่น การหลั่งฮอร์โมน การเผาผลาญ และระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ “แสงสว่าง” ที่ส่งผ่านทางจอประสาทตา เข้าสู่สมอง และกระจายไปยังระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (เช่น การบริโภคอาหาร และกิจกรรมทางกาย) สวนทางกับ นาฬิกาชีวภาพนี้ จะส่งผลต่อความผิดปกติและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน และโรคเบาหวาน หรือกลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบเผาผลาญ ดังนั้น การรับประทานอาหารจำเป็นต้องสอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกายด้วยเช่นกัน

แล้วเราควรกินอาหารกี่มื้อต่อวัน? ถึงจะส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี

การรับประทานอาหารตามปกติเป็นที่เข้าใจกัน คือ  3 มื้อต่อวัน แต่ยังคงมีข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับเวลา และจำนวนมื้ออาหารที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทำ IF (Intermittent Fasting) การแบ่งย่อยมื้ออาหาร (มากกว่า 3 มื้อต่อวัน) เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมของร่างกายแต่ละบุคคล ผลการวิจัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนการแบ่งย่อยมื้ออาหารจำนวนหลาย ๆ มื้อต่อวัน เนื่องจากจะช่วยกระจายพลังงาน ลดปริมาณอาหารมื้อใหญ่ กระตุ้นการเผาผลาญได้มากกว่า และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนกล่าวว่า การรับประทานอาหาร 1-2 มื้อ หรือ 3 มื้อ หรือมากกว่า 3 มื้อต่อวัน ก็สามารถทำได้ ไม่ได้มีความแตกต่างในด้านประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงคือปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน

นอกจากนี้ ตามวงจรนาฬิกาชีวภาพแสดงให้เห็นว่า ไม่ควรอดอาหารมื้อเช้า (7.00-9.00 น.) ซึ่งเป็นอาหารมื้อสำคัญ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกายที่อดอาหารจากการนอนหลับตลอดคืน เป็นช่วงเวลาการทำงานของกระเพาะอาหาร และควรเป็นมื้ออาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนเป็นหลัก (20 – 30 กรัม) มีผลการวิจัยว่า การรับประทานอาหารมื้อเช้าจะช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลิน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิต เพิ่มการหลั่ง Growth hormone และลดความชุกต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในทางตรงกันข้าม การข้ามอาหารมื้อเช้ามีผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งสัมพันธ์กับโรคอ้วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของระบบเผาผลาญ อีกทั้งส่งผลต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต

เพื่อให้วงจรนาฬิกาชีวภาพทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราควรมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกัน ร่างกายมีช่วงเวลาใช้พลังงานในตอนกลางวัน และจะใช้พลังงานลดลงในตอนกลางคืนเพื่อสู่การพักผ่อนและกระบวนการซ่อมแซมร่างกาย เกี่ยวกับการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารแบบ IF หรือ 1 มื้อ หรือหลายมื้อต่อวัน ก็ควรเริ่มทานมื้อแรกหลังตื่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ไม่เกิน 9.00 น.) และงดอาหาร 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

โดยสรุป จำนวนมื้ออาหารต่อวันไม่มีความแตกต่างในด้านประโยชน์ต่อสุขภาพและการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก อย่างไรก็ตาม การแบ่งย่อยมื้ออาหารจำนวนหลาย ๆ มื้อต่อวัน จะมีประโยชน์กับกลุ่มบุคคล เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ที่ต้องการกระจายพลังงานและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอ และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญได้มากกว่า การรับประทานอาหารในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพ (ทานช่วงเวลากลางวัน) และการรับประทานอาหารมื้อเช้าที่มีโปรตีนสูง 20 – 30 กรัม จะช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก และส่งผลช่วยในการลดน้ำหนัก

Personalized-vitamin

วิตามินเฉพาะบุคคลและวิตามินบำบัด – นอกจากสารอาหารหลัก คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ที่เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ยังมีสารอาหารรอง “วิตามินและเกลือแร่” ที่สำคัญต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ถึงแม้จะเป็นสารอาหารที่ไม่ได้ให้พลังงานและร่างกายต้องการเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของเซลล์และการป้องกันโรค การได้รับวิตามินและเกลือแร่หรือแร่ธาตุที่ไม่เพียงพอเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบการเผาผลาญพลังงาน ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาทและสมอง ระบบผิวหนัง และระบบกระดูก เป็นต้น ซึ่งเป็นผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายที่แตกต่างกัน และอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังได้ วิตามินส่วนใหญ่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่เพียงพอเพื่อสนับสนุนการทำงานของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ

วิตามินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มวิตามินที่ละลายในน้ำ และกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน ความสมดุลของวิตามินทั้งสองกลุ่มสำคัญต่อสุขภาพโดยรวม

วิตามินที่ละลายในน้ำ

    • ได้แก่ วิตามิน C และกลุ่มวิตามิน B
    • ขับออกทางปัสสาวะ ไม่สามารถสะสมในร่างกายได้
    • จำเป็นต้องได้รับอย่างต่อเนื่อง
    • เป็นพิษต่อร่างกายน้อย
    • ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในกระบวนการทางเคมีซึ่งเกิดขึ้นภายในเซลล์

วิตามินที่ละลายในไขมัน

    • ได้แก่ วิตามิน A, D, E และ K
    • เก็บสะสมที่ตับและเนื้อเยื่อไขมัน
    • สะสมในร่างกายได้ 2-10 เดือน
    • อาจไม่ได้รับทุกวันก็ได้
    • ปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นพิษต่อร่างกาย
    • มีบทบาทสำคัญทางสรีรวิทยา เช่น การมองเห็น กระดูก ภูมิคุ้มกัน การแแข็งตัวของเลือด เป็นต้น

พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันส่งผลต่อการเข้าถึงสารอาหารต่ำร่วมกับปัจจัยทำลายต่าง ๆ เช่น แสงแดด ความเครียด มลพิษ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และโรคประจำตัว ทำให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่เพียงพอ ความนิยมในการบริโภควิตามินเสริมจึงมีบทบาทสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพ หลายคนเลือกรับประทานตามความเชื่อ บ้างก็ทานตามคนรอบข้าง แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน บ้างก็ไม่เป็นผล นั่นก็เพราะความแตกต่างของแต่ละบุคคล วิตามินชนิดเดียวกันอาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะร่างกาย เพศ อายุ น้ำหนัก พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมบริโภคอาหาร รวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นปัจจัยที่แตกต่างในแต่ละบุคคลที่แปรผันต่อความต้องการวิตามินที่ไม่เหมือนกัน การได้รับวิตามินที่ตรงตามความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดหรือเกินได้ และการได้รับวิตามินบางตัวที่มากเกินไปก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน

หนึ่งในการแพทย์ทางเลือกที่เรียกว่า “วิตามินเฉพาะบุคคล” และ “วิตามินบำบัด” เป็นแนวทางในการตอบสนองความต้องการวิตามินและแร่ธาตุเพื่อสุขภาพที่ดีของแต่ละบุคคล ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพที่สมบูรณ์ (Optimal health) งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่มีระดับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าค่าปกติของการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น การเสริมวิตามินจึงได้รับการสนับสนุนเพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหา และจะเป็นประโยชน์มากกว่าหากการแก้ปัญหานั้นสามารถทำได้ตรงจุดตามความต้องการเฉพาะบุคคล

วิตามินเฉพาะบุคคล (Personalized Vitamin)

คือ อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่ถูกกำหนดขนาดและสัดส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะบุคคล จากการตรวจเลือดวิเคราะห์ระดับวิตามินและแร่ธาตุที่อยู่ในเลือด ร่วมกับการซักประวัติ โรคประจำตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต และปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินปริมาณวิตามินและออกแบบให้ตรงตามความต้องการอย่างเหมาะสม มักทำการติดตามทุก ๆ 6-12 เดือน เพื่อปรับสูตรให้สอดคล้องอยู่สม่ำเสมอ

Personalized Vitamin มีสูตรที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการในการดูแลป้องกัน และปรับสูตรให้สอดคล้องกับร่างกายของแต่ละคน อาทิเช่น

    • สูตรดูแลระบบภูมิคุ้มกัน
    • สูตรดีท็อกซ์ของเสียออกจากร่างกาย
    • สูตรดูแลสุขภาพผิวพรรณ และ
    • สูตรฟื้นฟูสุขภาพจากความอ่อนเพลีย

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เช่น สูตรสำหรับดูแลโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคภูมิแพ้ เป็นต้น

วิตามินบำบัด (Vitamin Therapy)

วิตามินบำบัด หรือ IV therapy หรือที่รู้จักแพร่หลายอย่าง Vitamin drip คือ การให้วิตามินและแร่ธาตุผ่านหลอดเลือดดำ (เหมือนการให้น้ำเกลือ) เป็นการให้วิตามินที่มีความเข้มข้นสูงเข้าเส้นเลือดโดยตรง ไม่ผ่านกระบวนการย่อยและการดูดซึม ทำให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้ไวกว่าการรับประทาน มีสูตรการดัดแปลงที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกาย มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือมีผลข้างเคียงน้อย เนื่องจากใช้ส่วนผสมของวิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำเป็นหลัก สูตรวิตามินต่าง ๆ เหล่านี้ดัดแปลงจาก “Myers’ Cocktail” ของ John Myers ที่ใช้สูตรวิตามินและแร่ธาตุทางหลอดเลือดดำเพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะอ่อนเพลียและติดเชื้อเฉียบพลัน ประกอบไปด้วย วิตามิน C วิตามิน B complex แคลเซียม และแมกนีเซียม ทำการละลายในน้ำเกลือ ซึ่งมีผลการศึกษาที่มีประสิทธิภาพดีต่อผู้ป่วยหอบหืดเฉียบพลัน ไมเกรน อ่อนเพลีย ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ภาวะกล้ามเนื้อหดตัวเฉียบพลัน กลุ่มอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ปัจจุบัน Myers’ Cocktail เป็นสารน้ำที่ประกอบไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด มีการดัดแปลงสูตรที่หลากหลายขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยและวัตถุประสงค์ของการักษา เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทางเลือก มีประสิทธิภาพในการรักษา มีความปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อย

กลุ่มเป้าหมายและข้อห้ามสำหรับการทำวิตามินเฉพาะบุคคลและวิตามินบำบัด

กลุ่มเป้าหมาย

    • ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
    • ผู้ที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    • ผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่ครบตามความจำเป็นของร่างกาย
    • ผู้สูงอายุ และอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควรว่าจะต้องได้รับการรักษา

ผู้ที่ควรระวังและข้อห้าม

    • หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร
    • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้วิตามิน หรืออื่น ๆ
    • ภาวะไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง
    • เป็นโรคพร่องเอ็นไซม์ GP6D
    • ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงอดอาหารหรือควบคุมน้ำหนัก

หลักการทำวิตามินวิตามินบำบัด (IV drip) จะใช้ส่วนผสมหลักจากวิตามินกลุ่มละลายน้ำในปริมาณที่สูงเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ในช่วงขณะหนึ่ง เช่น วิตามิน C และ B ที่มีบทบาทเป็นโคเอนไซม์ และมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดภาวะเครียดออกซิเดชันของร่างกาย สนับสนุนการทำงานของเซลล์ให้เป็นปกติ ปริมาณวิตามิน C และ B ที่เกินกว่าความต้องการของร่างกายหรือระดับความเข้มข้นในเลือดถึงจุดอิ่มตัว จะถูกขับออกทางปัสสาวะ และส่วนผสมของวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถละลายน้ำได้จะใช้ในปริมาณที่สูงกว่าค่า RDA (Recommended Daily Allowance) ขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ไม่เกินกว่าค่า UL (Tolerable Upper Intake Levels) เนื่องจากจะมีการสะสมในร่างกายและเป็นพิษได้ เว้นแต่ปริมาณที่ใช้สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากภาวะการขาดวิตามินและสารอาหาร อาจใช้ในปริมาณที่สูงกว่าค่า UL หรือ ไม่เกินกว่า ช่วงของค่าความเข้มข้นของวิตามินและแร่ธาตุในช่วงที่ออกฤทธิ์ได้ดี (Therapeutic window) ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

สังเกตด้วยว่า IV drip เป็นการให้วิตามินความเข้มข้นสูงที่เจือจางในน้ำเกลือก่อนให้ผ่านหลอดเลือดดำ เนื่องจากการให้วิตามินที่มีความเข้มข้นสูงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดอันตรายได้ ผลลัพธ์ที่เห็นได้นั้นควรได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 4-5 ครั้ง ระยะห่างแต่ละครั้งประมาณ 1 สัปดาห์ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เพียงพอเพื่อสร้างความสมดุลสารอาหารระยะยาว

โดยทั่วไปแล้ว วิตามินและแร่ธาตุพบได้ในอาหารจากธรรมชาติทั่วไป โดยเฉพาะในผักและผลไม้ การรับประทานผักและผลไม้วันละ 400 กรัม (หรือ 5 ฝ่ามือ) ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพียงพอต่อความต้องการวิตามินและแร่ธาตุสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทาน เว้นแต่ Vitamin D ที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เมื่อได้รับแสงแดด และ Vitamin K สังเคราะห์ได้จากจุลินทรีย์ในลำไส้ การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุตามค่าแนะนำ RDA นั้นก็เพียงพอในการป้องกันโรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงของปัจจุบันนั้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตและหลากหลายปัจจัยส่งผลต่อระดับความต้องการที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การได้รับวิตามินและสารอาหารที่สูงกว่าค่า RDA นั้นสามารถเข้าใกล้ Optimal health ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเกินกว่าปริมาณสูงสุดที่ปริโภคได้ต่อวัน (UL) โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน

โดยสรุป Personalized vitamin นั้นมีประโยชน์ต่อความต้องการด้านสุขภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล และยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสมดุลทางโภชนาการ เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เติมเต็มความสมบูรณ์ของร่างกายได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ทั้งนี้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับทุกคน แต่สามารถตอบโจทย์และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพที่ได้รับสารอาหารจากการบริโภคไม่เพียงพอหลายชนิด ในขณะเดียวกันควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่สุขภาวะที่ดี เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามควรเลือกใช้บริการที่มีมาตรฐานและอยู่ภายใต้การดูของแพทย์ และการบำบัดด้วยวิตามินอาจเป็นไปได้ที่จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงช้า หากไม่มีพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะที่ดีควบคู่ไปด้วย

Sub-optimal health

ภาะวะพร่องสุขภาพ ผลจากพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่ไม่สมดุล

บ่อยครั้งที่ไปโรงพยาบาลเพราะอาการเจ็บป่วย และมักได้ยากลับมาทานตามอาการ แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคใด ๆ นั่นเป็นเพราะไม่ใช่ความผิดปกติที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่กลับสร้างความบั่นทอนสุขภาพอยู่ไม่น้อย หรือเรียกว่า “ภาวะพร่องสุขภาพ”

ภาวะพร่องสุขภาพ (Sub-optimal health) เป็นภาวะก้ำกึ่งระหว่างสุขภาพดีและโรคภัยจากการขาดวิตามินและเกลือแร่เพียงเล็กน้อย หรือเรียกว่า “สถานะที่สามของสุขภาพ” ไม่ใช่โรค แต่เป็นสัญญาณหรืออาการเตือนก่อนที่จะนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ จากอาการเรื้อรังที่ไม่แสดงความผิดปกติทันที แต่สร้างความบั่นทอนสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เป็นปัญหาใหม่ทางสาธารณสุขที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้เนื่องจากความไม่ชัดเจนและไม่เฉพาะเจาะจงของอาการ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพและวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การขาดวิตามินดีซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลกในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่วัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีผลกระทบร่วมจากอายุที่มากขึ้น

อาการเสื่อมจากภาวะพร่องสุขภาพจะค่อยเป็นค่อยไป และไม่มีอาการที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับกลุ่มสารอาหารที่บกพร่อง เช่น

    • ภาวะพร่องวิตามินดี และแคลเซียม ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดกระดูก วิตกกังวล ความอยากอาหารลดลง จากวิถีชีวิตที่ปกป้องหรือป้องกันผิวจากแสงแดดทำให้ร่างกายสังเคราะห์ได้ไม่เพียงพอ
    • ภาวะพร่องธาตุเหล็ก วิตามินบี9 หรือวิตามินบี12 ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น จากการผลิตเม็ดเลือดแดงที่ลดลง
    • ภาวะพร่องวิตามินเอ วิตามินซี และสังกะสี ทำให้เป็นหวัด เจ็บป่วยง่าย จากภูมิคุ้มกันทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
    • ภาวะพร่องแมกนีเซียม วิตามินบี6 และวิตามินบี 12 ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นแล้วไม่สดชื่น จากการผลิตเซโรโทนิน และเมลาโทนินที่ลดลง

สาเหตุการขาดวิตามินและเกลือแร่มาจากการบริโภคสารอาหารที่ไม่เพียงพอ (ปฐมภูมิ) และผลจากโรคประจำตัวที่มาจากวิถีชีวิต (ทุติยภูมิ) เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่เจอแสงแดด การใช้ยา รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพด้วยตนเอง สามารถทำแบบสอบถาม (SHSQ-25) Suboptimal health status questionnaire-25 ครอบคลุมด้วยข้อคำถาม 5 หมวดหมู่ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และสถานะสุขภาพจิต ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ค่าแนะนำปริมาณสารอาหารที่ควรบริโภคและค่าสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวันสำหรับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และตัวอย่างแหล่งอาหาร

สารอาหาร ค่าแนะนำ (RDA) ค่าสูงสุด (UL) แหล่งอาหาร
วิตามิน A (ug) 800 3000 น้ำมันตับปลา ตับ นม ไข่ ผักผลไม้สีเขียว ส้ม เหลือง
วิตามิน D (ug) 5 100 แสงแดด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู กุ้ง
วิตามิน B6 (ug) 2 100 สัตว์เนื้อแดง และไข่แดง
วิตามิน B9 (ug) 200 1000 ดอกะหล่ำ ดอกและใบกุยช่าย มะเขือเทศ แตงกวา
วิตามิน B12 (ug) 2 1000 เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น
วิตามิน C (mg) 60 2000 ผักและผลไม้รสเปรี้ยว
เหล็ก (mg) 15 120 สัตว์เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว
แคลเซียม (mg) 800 2500 นมและผลิตภัณฑ์ ผักใบเขียว
สังกะสี (mg) 15 40 ไข่ เต้าหู้ ผักโขม เห็ด ธัญพืช หอยนางรม
แมกนีเซียม (mg) 350 500 ธัญพืช โฮลเกรน ผักใบเขียว

RDA: Recommended Dietary Allowances, UL: Tolerable Upper Intake Levels

สุขภาพถือเป็นกุญแจสำคัญของชีวิต องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้นิยามสุขภาพว่า “สภาวะความผาสุกทางร่างกาย จิตใจ และสังคมที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่การไม่มีโรคหรือความทุพพลภาพเท่านั้น” ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรคที่เกิดจากการขาดสารอาหารรุนแรงนั้นจะพบเจอได้ยาก แต่การบริโภคสารอาหารรอง (วิตามินและแร่ธาตุ) ที่ไม่เหมาะสมยังคงเป็นเรื่องปกติ สาเหตุหลักจากวิถีชีวิตที่บริโภคสารอาหารไม่เป็นไปตามคำแนะนำ (RDA) ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ที่รบกวนสุขภาพ เช่น การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น การบริโภคสารอาหารที่เพียงพอเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่สภาวะสุขภาพที่ดี สารอาหารตาม RDA หรือ “ค่าต่ำสุดที่ควรบริโภคเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี” อาจเป็นผลดีกว่าในผู้ที่บริโภคมากกว่าค่าแนะนำโดยไม่ควรเกินค่าสูงสุดต่อวัน จะเห็นได้ว่า แหล่งของวิตามินและเกลือแร่ส่วนใหญ่พบได้ในผักผลไม้สด ดังนั้น การรับประทานผักผลไม้วันละ 400 กรัม หรือ 5 ฝ่ามือ ตามคำแนะนำของ WHO ก็เพียงพอต่อการป้องกันการขาดวิตามินและเกลือแร่ได้ในผู้ที่มีสุขภาพดี และควรบริโภคในปริมาณที่มากกว่าสำหรับผู้ที่ขาด

การเสริมวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่ขาด เพียงแต่จำเป็นต้องทราบถึงประโยชน์และโทษของการเสริมนั้น ๆ แน่นอนว่าการขาดวิตามินและเกลือแร่เป็นผลเสียต่อร่างกาย แต่การเสริมที่เกินกว่าความต้องการจะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินที่ไม่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามิน A, D, E และ K และการเสริมโดยไม่จำเป็นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การตรวจวัดระดับวิตามินและเกลือแร่ก่อนการเสริม หรือ “Personalized Vitamin” เป็นหนึ่งในการรักษาเฉพาะบุคคลภายใต้การดูแลของแพทย์ ช่วยลดปริมาณการเสริมเกินความจำเป็นที่อาจเกิดโทษต่อร่างกายได้

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สาเหตุหลักของภาวะพร่องสุขภาพมาจากพฤติกรรมและวิถีชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างแรก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการนอนหลับ รวมทั้งการรู้เท่าทันสุขภาพ และหมั่นสำรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ยังคงเป็นการดูแลป้องกันที่ดีที่สุด แต่ด้วยอุปสรรคจากวิถีชีวิตวัยทำงานทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปได้ค่อนข้างยาก การเสริมสารอาหารที่ขาดเป็นทางออกที่ดีสำหรับบุคคลเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การเสริมอาหารควบคู่กับอาหารเพื่อสุขภาพย่อมเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่า สิ่งสำคัญคือการรับรู้ประโยชน์และโทษของสารอาหารที่ต้องการเสริม และคอยติดตามตนเองสม่ำเสมอ ดังนั้น ควรศึกษาปริมาณของวิตามินหรือเกลือแร่ในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายหรือตรวจระดับวิตามินและเกลือแร่ก่อนการเสริม และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนบริโภคเสมอ เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการอาการบั่นทอนจากภาวะพร่องสุขภาพเหล่านี้ นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่อไปได้

Collagen and Pro-collagen

Collagen and Pro-collagen สารสำคัญที่ช่วยดูแลและฟื้นฟูผิวสวย

Pro-collagen สารตั้งต้นในการผลิต Collagen ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะในร่างกาย มีมากที่สุดคิดเป็น 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมด และเป็นองค์ประกอบหลักของสุขภาพผิว

Collagen (คอลลาเจน) เป็นโปรตีนที่อุดมสมบูรณ์ที่สร้างโดยร่างกายและมีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 25-30 หรือ 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดในร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญในผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่เสมือน “กาว” ที่คอยยึดเกาะเชื่อมโยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของอวัยวะร่างกาย โดยมีจุดเริ่มต้นกระบวนการสร้างจาก Pro-collagen (โปร-คอลลาเจน) ที่ยึดเป็นมัดเส้นใย 3 สายพันเกลียว (Triple helix) คล้ายกับเส้นเชือก 3 เส้นที่พันเกลียวกัน

Pro-collagen คือสารตั้งต้นในการผลิต Collagen จากการสังเคราะห์กรดอะมิโน “โปรลีน” และ “ไลซีน” โดยอาศัย “วิตามินซี” เป็น Co-factor เพื่อยึดเป็น Triple helix ส่งออกนอกเซลล์ไปจับกับโมเลกุลไกลซีนตามสูตร Gly-XY เป็น Collagen เมื่อร่างกายมีความไม่สมดุลของกรดอะมิโน จะทำให้ไม่สามารถสร้าง Triple helix ได้ นั่นหมายความว่า จะไม่เกิดการสร้างเส้นใย Collagen เช่นเดียวกับปริมาณวิตามินซีที่ไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการสังเคราะห์ Pro-collagen ไม่สมบูรณ์

สารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้าง Collagen และแหล่งที่พบได้ในอาหาร

สารอาหาร แหล่งที่พบ อาทิเช่น …
โปรลีน ไข่ขาว ผลิตภัณฑ์จากนม กะหล่ำปลี เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง จมูกข้าวสาลี
ไลซีน เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วดำ คีนัว เมล็ดฟักทอง
ไกลซีน หนังไก่ หนังหมู เจลาติน อาหารที่มีโปรตีน
วิตามินซี ผลไม้รสเปรี้ยว สตรอเบอร์รี บรอกโคลี ผักเคล พริกหยวก
วิตามินอี ไข่ ธัญพืช น้ำมันพืช (น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก)
ทองแดง เนื้อสัตว์ หอยนางรม อัลมอนด์ โกโก้ วอลนัท เมล็ดงา เม็ดมะม่วงหิมพานต์
สังกะสี เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู หอย นม ชีส ถั่วเลนทิล ถั่วต่าง ๆ

Collagen มีหลากหลายชนิดซึ่งมีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพผิวและความงาม ซึ่งเป็นผลจาก Collagen ชนิดที่ 1 (Type 1) เป็นส่วนประกอบหลักของชั้นผิวที่ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่น ให้ความชุ่นชื่น ทำให้ผิวเต่งตึงดูสุขภาพดี โดยปกติร่างกายสามารถผลิตเองได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นสมรรถภาพของร่างกายลดลง จะผลิต Collagen ได้น้อยลง ร่างกายผลิต Collagen เต็มที่ที่สุดในช่วงอายุ 20 ปี และเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป จะสูญเสีย Collagen ในปริมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี ทำให้ผิวแห้งและเกิดริ้วรอยได้ นอกจากปัจจัยอายุที่ไม่สามารถควบคุมได้ พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลาย Collagen ด้วยเช่นกัน หรือเรียกว่า “แก่ก่อนวัย” พฤติกรรมที่นำไปสู่การทำลาย Collagen ได้แก่

    • แสงแดด (UV) เป็นศัตรูหลักของ Collagen ซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนัง สามารถปกป้องโดยการทาครีมกันแดด และหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดโดยไม่จำเป็น
    • น้ำตาล ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และสามารถแย่งจับกับกรดอะมิโนได้
    • ความเครียดและการอดนอน กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีส่วนในการทำลาย Collagen ในชั้นผิว
    • สารเคมีจากควันบุหรี่ สารนิโคตินเป็นตัวเร่งความเสื่อมสภาพของเซลล์และยังเป็นตัวทำลายวิตามินซี
    • ขาดวิตามินซี ซึ่งเป็นตัวเสริมสร้าง Collagen และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่
    • ขาดโปรตีน การสร้าง Collagen ต้องใช้กรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการสังเคราะห์ Collagen

การทราบถึงการขาดหรือความไม่เพียงพอของ Collagen ในร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการทดสอบ มีเพียงแต่การตรวจวัดปริมาณ Collagen ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตาม เราสามารถประเมินด้วยตนเองเบื้องต้นได้จากการสังเกตอาการ เช่น ผิวหนังหย่อนคล้อย ไม่กระชับ มีริ้วรอย ผิวแห้งกร้านและลอกเป็นขุย ผิวไม่เรียบเนียน ใต้ตาลึกลง ผมร่วง แผลหายยาก และปวดกล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า “อาการขาด Collagen”

จากผลงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การรับประทานอาหารเสริม Collagen อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 8 – 12 สัปดาห์ ในปริมาณ 2.5 – 15 กรัม ต่อวัน จะส่งผลให้เห็นถึงความแตกต่างและปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง โดยทั่วไปแล้ว Collagen สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งผักผลไม้ (สีแดงส้ม) ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้าง Collagen สังเกตด้วยว่า การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็ทำให้ได้รับ Collagen ที่ค่อนข้างเพียงพอกับความต้องการของร่างกายแล้ว (2 – 3 กรัมต่อวัน) จึงไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเสริม และการได้รับสารอาหารเกินความจำเป็นอาจเป็นโทษได้ เว้นแต่บางภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการเสริม Collagen อาทิเช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมอาหาร ภาวะพร่องโภชนาการ ผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหาร และผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ เป็นต้น ถึงแม้ว่า Collagen จะมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนักด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า สามารถทาน Collagen เสริมได้ 5 – 7 กรัม และไม่เกิน 10 กรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 เดือน อย่างไรก็ตาม มีบุคคลบางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริม Collagen ด้วย เช่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะสรุปได้ถึงความปลอดภัย นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาล (เบาหวาน) เนื่องจากคอลลาเจนเปปไทด์อาจลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ที่เสี่ยงหรือเป็นนิ่วในไตและในถุงน้ำดี เนื่องจากกรดอะมิโนสามารถเปลี่ยนเป็นออกซาเลตได้ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพาะอาจไม่เป็นผลดีเมื่อทานคู่กับยา

ปัจจุบัน แหล่ง Collagen ชนิดที่ได้รับความนิยมมาจากสัตว์ทะเล (Marine collagen) อาทิเช่น ปลาทะเลน้ำลึก เป็นแหล่ง Collagen ชนิดที่ 1 (มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย) เนื่องจากมีโมเลกุลขนาดเล็กและดูดซึมได้ง่าย ความแตกต่างและข้อดีข้อเสียชอง Collagen จากแหล่งต่าง ๆ สรุปไว้ดังนี้

Bovine (กระดูกวัว) Porcine (กระดูกหมู) Marine (ปลาทะเล)
ข้อดี

Collagen Type 1 และ 3

ดูดซึมได้ดี

ช่วยเรื่อง ผิวพรรณ ผม เล็บ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อ หลอดเลือด

เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิว

ก่อให้เกิดการแพ้ค่อนข้างต่ำ

ข้อดี

Collagen Type 1 และ 3

บำรุงผิวพรรณ ผม เล็บ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อ หลอดเลือด

เพิ่มความหนาแน่นของไฟโบรบลาสต์

เพิ่มการสร้างเส้นใยคอลลาเจนในชั้นหนังแท้

ข้อดี

Collagen Type 1

ดูดซึมง่าย (โมเลกุลเล็กสุด)

กรดอะมิโนไกลซีน โปรลีน

ช่วยบำรุงผิว ผม เล็บ เส้นเอ็น

นิยมสกัดจากหนังปลาทะเลน้ำลึก

ข้อเสีย

ความปลอดภัย: โรคจากสัตว์สู่คนเช่นโรคไข้สมองอักเสบจากสปองจิฟอร์มวัวและโรคปากและเท้าเปื่อยอาจติดต่อผ่านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ข้อจํากัดทางศาสนาอิสลาม (หมู) ศาสนายิว (วัว)

ราคาแพง ใช้ทางชีวการแพทย์ เช่น รากฟันเทียม

ข้อเสีย

เสื่อมสภาพได้ง่ายกว่า

ไม่เหมาะกับการใช้งานทางชีวการแพทย์

จะเห็นได้ว่าแหล่ง Collagen มาจากสัตว์เป็นหลัก ทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ปัจจุบันมีการศึกษาและสังเคราะห์ Collagen เพื่อกลุ่มมังสวิรัติมากขึ้น เรียกว่า “Vegan collagen” จากการดัดแปลงพันธุกรรมของยีสต์และแบคทีเรีย (P. pastoris) เนื่องจากพืชไม่สามารถผลิต Collagen แต่ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์ Collagen ชนิดที่ 1 ได้ ส่วนใหญ่สกัดจากพืชที่ประกอบไปด้วย Asiaticoside (บัวบก) และ Ginsenosides (โสม) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าจะให้ประโยชน์เช่นเดียวกับคอลลาเจนจากสัตว์หรือใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สามารถรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ Collagen (หรือ Pro-collagen) ได้ เช่น วิตามินซี ไกลซีน โพรลีน ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น

Collagen เป็นสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าโทษ และมักเป็นอาหารเสริมกลุ่มแรกที่ได้รับความนิยม ด้วยสาเหตุการเสื่อมสภาพของสุขภาพผิวที่แปรผันไปตามช่วงอายุที่มากขึ้น และสมรรถภาพการทำงานของร่างกายที่ถดถอย สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Collagen จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผิว อาการข้างเคียงจาก Collagen ส่วนใหญ่มาจากการแพ้อาหาร (ทะเล) ดังนั้น ควรศึกษาถึงแหล่งอาหารที่ใช้ผลิตก่อนรับประทานเสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องเสริม Collagen การรับประทานอาหารจากธรรมชาติยังคงปลอดภัย (จากสารเจือปน) และได้รับสารอาหารที่หลากหลายมากกว่า การรับประทานโปรตีนที่เพียงพอจากแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และการได้รับวิตามินต่าง ๆ จากการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ ก็เพียงพอต่อความต้องการ Collagen ของร่างกาย ร่วมกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยทำลาย Collagen ต่าง ๆ ทั้งนี้ ความไม่สมดุลของสารอาหารส่งผลต่อความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการสร้าง Collagen โดยเฉพาะกรดอะมิโน โปรลีน ไลซีน ไกลซีน และวิตามินซี ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้าง Collagen

Osteoarthritis

อาหารเสริมป้องกันและฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อม

ข้อเสื่อม สาเหตุทุพพลภาพในผู้สูงอายุไทยมากกว่า 6 ล้านคน … ของอาหารเสริมต่อการฟิ้นฟ๔ช้ข้อต่อวิตกระดขึ้น โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis: OA) คือ การเสื่อมของกระดูกอ่อนในข้อต่อกระดูกที่สึกกร่อนตามอายุการใช้งาน หรือเซลล์กระดูกอ่อนตายแล้วไม่ซ่อมสร้างใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีของกระดูกจากการเคลื่อนไหวของข้อหรือเมื่อรับแรงกระแทก ทำให้กระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูกข้อต่อบางลง ช่องว่างระหว่างข้อแคบลง ปุ่มกระดูกยื่นออกจากการพยายามซ่อมแซมกระดูกอ่อน เกิดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว ทำให้มีเสียงกรอบแกรบในข้อ โรคข้อเสื่อมเป็นผลจากเมตาบอลิซึมที่ไม่สมดุลของกระดูกอ่อนที่มีการสลายมากกว่าสร้าง โดยเริ่มต้นจาก “การอักเสบของเยื่อบุข้อ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก และพบในคนไทยมากกว่า 6 ล้านคน ร้อยละ 80-90 พบในผู้สูงอายุ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ

ข้อต่อของอวัยวะร่างกายประกอบด้วยกระดูก 2 ชิ้นที่ถูกหุ้มด้วย “กระดูกอ่อนผิวข้อ” หรือ “กระดูกอ่อน” ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือกันชน ข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับข้อต่อทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะข้อที่ใช้รับน้ำหนักหรือใช้งานมาก ยกตัวอย่างเช่น ข้อเข่า พบได้บ่อย ซึ่งเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุด พับ งอ และรับน้ำหนักมากที่สุด ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อมือ ข้อนิ้ว ตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของแต่ละคน ปัจจัยจากอายุมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 40 ปี อาการจะชัดมากขึ้นเมื่อเข้าสู่อายุ 60 ปี นอกจากนี้ สาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ข้อเสื่อมไวขึ้น ได้แก่

    • เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย 2-3 เท่า โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือนที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
    • น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เพิ่มการรับน้ำหนักที่ข้อเข่า
    • การบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการใช้งานที่สะสมเป็นเวลานาน
    • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ นั่งคุกเข่า หรือการงอข้อต่อน้อยกว่า 90 องศาบ่อย ๆ

อาการและการตรวจคัดกรองเบื้องต้น

    • อาการข้อติดหลังตื่นนอน ขยับแล้วรู้สึกเจ็บไม่เกิน 30 นาที (ถ้ามากกว่า 30 นาที อาจเป็นสาเหตุอื่น)
    • เจ็บปวดในข้อเมื่อมีการใช้งาน
    • ข้อบวมและผิดรูป
    • มีเสียงขรูดจากการเสียดสีของกระดูกข้อต่อ
    • สูญเสียการเคลื่อนไหว
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อไม่มั่นคง

นอกจากอายุที่มากขึ้นและปัจจัยทั่วไปตามการเสื่อมสภาพของร่างกายแล้ว นักกีฬาก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อมก่อนวัย จากการใช้งานร่างกายที่หนักและได้รับแรงกระแทกเป็นประจำ มักจะมีอาการปวดขา เข่า ศอก อยู่บ่อย ๆ  ผลการศึกษา พบปัญหาข้อเสื่อมได้บ่อยที่สุดในนักวิ่งมาราธอน ตามด้วยกีฬาอื่น ๆ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล แฮนด์บอล มวย และยกน้ำหนัก เป็นต้น กีฬาเหล่านี้มีการหมุนหรือเปลี่ยนทิศทางของข้อมาก มีการกระแทกที่รุนแรง และใช้ข้อต่อซ้ำ ๆ และหากมีความสงสัยในอาการข้อเสื่อม สามารถทำการประเมินอาการเบื้องต้นด้วยตนเองได้ โดยใช้แบบประเมิน อาทิเช่น แบบประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม Oxford Knee Score https://www.physio-pedia.com/Oxford_Knee_Score เป็นต้น

สำหรับแนวทางการรักษาข้อเสื่อม ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือให้ข้อต่อกลับสู่สภาพเดิมได้ เป็นการรักษาด้วยยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพริก (Capsaicin gel) และตามปัจจัยเสี่ยงที่ดูแลได้ เช่น การควบคุมน้ำหนัก ลดการใช้ข้อนั้น ๆ กายภาพบำบัดฟื้นฟู และผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ผลการวิจัยพบว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ โดยไม่ใช้ยา เช่น การออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังกายในน้ำหรือ “ธาราบำบัด” ที่อาศัยแรงพยุงจากน้ำในการบริหารความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อ ลดแรงกระแทก ลดอาการปวด นอกจากนี้ การปั่นจักรยาน และการเดินช้า รวมถึงการเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม รองเท้าที่แบนและยืดหยุ่น หรือการเดินด้วยเท้าเปล่า ซึ่งได้มีการวิจัยแล้วว่า สามารถช่วยลดการรับน้ำหนักที่ข้อเข่า ทำให้อาการปวดลดลงได้

ความสัมพันธ์ของกลุ่มโรคเมตาบอลิก และโภชนบำบัดสำหรับการป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม

    • น้ำหนักเกินและโรคอ้วน: การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม (BMI 18.5-22.9 kg/m2) โดยการควบคุมการรับประทานอาหารที่สมดุลต่อความต้องการพลังงานของร่างกาย บริโภคไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 11% ของความต้องการพลังงานต่อวัน (22 กรัม สำหรับผู้หญิง 26 กรัม สำหรับผู้ชาย) เพื่อลดการรับน้ำหนักที่ข้อเข่า น้ำหนักตัวที่ลดลง 5-10% สามารถช่วยลดอาการปวดข้อได้
    • โรคเบาหวานชนิดที่ 2: ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะกระตุ้นการสะสมของ AGEs (สารก่อพิษในร่างกาย) และลดการทำงานของ Chondrocyte (เพื่อใช้สร้างกระดูกอ่อน) ดังนั้น การควบคุมน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้การสร้างกระดูกอ่อนเป็นไปอย่างปกติ
    • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFA): โอเมก้า-3 (ลดการอักเสบ) และโอเมก้า-6 (กระตุ้นการอักเสบ) โดยการบริโภคที่สมดุล โอเมก้า-6 : โอเมก้า-3 ในอัตราส่วน 4 : 1

จากการทบทวนผลงานวิจัย สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน และสารอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับการป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม สามารถสรุปได้ดังตาราง

Recommend Per day Avoid Per day
Vitamin A 700 ug Omega-6
Vitamin C 80 mg Cholesterol 200 mg
Vitamin D ≤25 ug
Vitamin E 15 mg
Vitamin K 1 ug/kg
Omega-3 3 g
Omega-9

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อมที่ได้รับความนิยม อาทิเช่น “กลูโคซามีน” และ “คอนดรอยติน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายในกลุ่มที่ช่วยลดอาการปวด และช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ จากรายงานวิจัยพบว่า กลูโคซามีนและคอนดรอยติน จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยข้อเสื่อมที่ยังมีการทำงานของกระดูกอ่อน หรือมีความรุนแรงระดับน้อยถึงปานกลาง แต่จะไม่ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูโรคข้อเสื่อมระดับรุนแรง (ไม่มีกระดูกอ่อนเหลืออยู่) นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า อาหารเสริมแคลเซียม จะส่งผลดีในการบำรุงซ่อมแซมความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งไม่ใช่กระดูกอ่อน หรือ กระดูกอ่อนผิวข้อ และยังไม่มีผลการวิจัยว่า อาหารเสริมคอลลาเจน (ชนิดที่ 2) สามารถช่วยสร้างกระดูกอ่อนที่ช่วยเพิ่มความหนาของผิวข้อ แต่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดข้อได้

การป้องกันการเสื่อมของอวัยวะร่างกายย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัย 40 ปี ร่างกายเริ่มมีการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ลดลง นั่นเป็นสัญญาณเตือนถึงสภาพร่างกายที่ถดถอย ควรหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ใส่ใจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพระยะยาว สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาข้อเสื่อม ถึงแม้ว่าการรักษาไม่สามารถคืนข้อต่อสู่สภาพเดิมได้ แต่การรู้เท่าทันสมรรถภาพร่างกายตนเองสามารถชะลอความเสื่อมและลดความรุนแรงของโรคได้ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ใช้งานข้อต่อเกินความจำเป็น ควบคุมน้ำหนักตัว ใส่ใจสารอาหาร ออกกำลังกายเค ลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ สิ่งสำคัญคือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า และการเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม

Personalized nutrition

โภชการส่วนบุคคล – ในหลักการที่ว่า มนุษย์แต่ละคนมีความสามารถในการเผาผลาญอาหาร (Metabolism) และดอบสนองต่อสารอาหารแตกต่างกัน ทำให้แขนงสาขาโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics) ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โภชนพันธุศาสตร์ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ยีน โภชนาการ และสุขภาพ ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยวิเคราะห์ว่า สารอาหาร ส่งผลกระทบต่อ ยีนอย่างไร หรือ ปฏิกริยาของยีนต่อสารอาหารบางชนิด และทำไมร่างกายของบางคน มีปัญหาในด้านการขับสารพิษ หรือ ปัญหาด้านการเผาผลาญอาหาร

ความสัมพันธ์ระหว่าง ดีเอ็นเอ ยีน และสารอาหาร?
เนื่องจากยีนบางกลุ่ม (ร่างกายของมนุษย์มีโครโมโซม 23 คู่, ยีน 30,000 ยีน และดีเอ็นเอ 3,000 ล้านคู่สาย โดยประมาณ) ส่งผลต่อการโพรเซสอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การแพ้น้ำตาลแล็กโทส หรือความสามารถในการเผาผลาญแอลกอฮอล์และกาเฟอีน ที่แตกต่างกันในแต่ละคน ในปี (2016) การศึกษาเรื่อง ความชอบดื่มกาแฟมีผลมาจากดีเอ็นเอของแต่ละคนหรือไม่? ผลการศึกษาพบว่า ยีนที่มีชื่อว่า PDSS2 แสดงบทบาทที่สำคัญในการเผาผลาญกาเฟอีน อย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มคนที่มีการแสดงออกของยีน (Gene expression) PDSS2 มาก จะดื่มกาแฟได้ในปริมาณที่น้อยกว่า โดย ยีน จะเผาผลาญกาเฟอีนได้ค่อนข้างช้า ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่มีการแสดงออกของยีน PDSS2 ไม่ต้องการสารกาเฟอีนในปริมาณมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้รับกาเฟอีน ในปริมาณเล็กน้อย ก็อาจจะเกิดอาการใจสั่น (Awake) หรือนอนไม่หลับ

การศึกษาเรื่อง การแพ้สารอาหาร (Nutrient intolerance) ยกตัวอย่างเช่น การแพ้น้ำตาลแล็กโทส ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณเอนไซม์ Lactase ในลำไส้เล็กที่ลดลง อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น การติดเชื้อ หรือการอักเสบที่ลำไส้ ผลการวิจัย ในปี (2018) ได้ชี้ให้เห็นว่า ยีน LCT ซึ่งแสดงบทบาทที่สำคัญในการย่อยน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นม เมื่อตำแหน่งของดีเอ็นเอภายในยีนมีการเปลี่ยนแปลงไป (Mutate) จะส่งผลทำให้เกิดการแพ้แล็กโทส

นอกจากนี้ การขาดสารอาหาร (Nutrient deficiency) อาจบ่งชี้ได้จากยีนของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น การขาดโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิด โรคอัลไซเมอร์ (AD) โรคไขมันพอกตับ (NAFLD) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD) ในการศึกษาพบว่า การแสดงออกของยีน APOE4, PPAR-a และ APOA1 มีความสัมพันธ์ของการเกิดโรคดังกล่าว ตามลำดับ ซึ่งทำให้นักวิจัยอนุมานได้ว่า กลุ่มคนที่มียีนผิดปกติเหล่านี้ มีความต้องการโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

สังเกตด้วยว่า ปัจจุบัน การทดสอบหาระดับสารอาหารในร่างกาย อาทิเช่น สังกะสี วิตามินดี แมกนีเซียม เซเลเนียม รวมทั้ง โอเมก้า 3 ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งทำให้การกำหนดโภชนาการส่วนบุคคล ทำให้โดยง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในอีกทางหนึ่ง การทดสอบยีน หรือดีเอ็นเอ จะมีประโยชน์ในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น การแพ้และสาเหตุของการแพ้อาหารบางประเภท ซึ่งในทางการแพทย์ปัจจุบัน ยังเป็นความลับที่ยังไม่ได้ถูกเปิดเผย

ดังนั้น ความรู้ทางด้านโภชนพันธุศาสตร์ การศึกษาของ ยีน ดีเอ็นเอ ฮอร์โมน รวมทั้ง แบคทีเรียในลำไส้ สามารถช่วยตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ อุปนิสัย การรับประทานอาหาร ให้มีความเหมาะสมในแต่ละบุคคลได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย ลดอาหารหวาน เค็ม ไขมัน การรับประทานผักผลไม้ ออกกำลังกาย และพักผ่อนเพียงพอ ยังคงเป็นคำแนะนำที่ทรงคุณค่าสำหรับโภชการที่ดีสำหรับทุกคน

ที่มารูป: marketwatch.com