Collagen and Pro-collagen

Collagen and Pro-collagen สารสำคัญที่ช่วยดูแลและฟื้นฟูผิวสวย

Pro-collagen สารตั้งต้นในการผลิต Collagen ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะในร่างกาย มีมากที่สุดคิดเป็น 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมด และเป็นองค์ประกอบหลักของสุขภาพผิว

Collagen (คอลลาเจน) เป็นโปรตีนที่อุดมสมบูรณ์ที่สร้างโดยร่างกายและมีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 25-30 หรือ 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดในร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญในผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่เสมือน “กาว” ที่คอยยึดเกาะเชื่อมโยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของอวัยวะร่างกาย โดยมีจุดเริ่มต้นกระบวนการสร้างจาก Pro-collagen (โปร-คอลลาเจน) ที่ยึดเป็นมัดเส้นใย 3 สายพันเกลียว (Triple helix) คล้ายกับเส้นเชือก 3 เส้นที่พันเกลียวกัน

Pro-collagen คือสารตั้งต้นในการผลิต Collagen จากการสังเคราะห์กรดอะมิโน “โปรลีน” และ “ไลซีน” โดยอาศัย “วิตามินซี” เป็น Co-factor เพื่อยึดเป็น Triple helix ส่งออกนอกเซลล์ไปจับกับโมเลกุลไกลซีนตามสูตร Gly-XY เป็น Collagen เมื่อร่างกายมีความไม่สมดุลของกรดอะมิโน จะทำให้ไม่สามารถสร้าง Triple helix ได้ นั่นหมายความว่า จะไม่เกิดการสร้างเส้นใย Collagen เช่นเดียวกับปริมาณวิตามินซีที่ไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการสังเคราะห์ Pro-collagen ไม่สมบูรณ์

สารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้าง Collagen และแหล่งที่พบได้ในอาหาร

สารอาหาร แหล่งที่พบ อาทิเช่น …
โปรลีน ไข่ขาว ผลิตภัณฑ์จากนม กะหล่ำปลี เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง จมูกข้าวสาลี
ไลซีน เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วดำ คีนัว เมล็ดฟักทอง
ไกลซีน หนังไก่ หนังหมู เจลาติน อาหารที่มีโปรตีน
วิตามินซี ผลไม้รสเปรี้ยว สตรอเบอร์รี บรอกโคลี ผักเคล พริกหยวก
วิตามินอี ไข่ ธัญพืช น้ำมันพืช (น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก)
ทองแดง เนื้อสัตว์ หอยนางรม อัลมอนด์ โกโก้ วอลนัท เมล็ดงา เม็ดมะม่วงหิมพานต์
สังกะสี เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู หอย นม ชีส ถั่วเลนทิล ถั่วต่าง ๆ

Collagen มีหลากหลายชนิดซึ่งมีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพผิวและความงาม ซึ่งเป็นผลจาก Collagen ชนิดที่ 1 (Type 1) เป็นส่วนประกอบหลักของชั้นผิวที่ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่น ให้ความชุ่นชื่น ทำให้ผิวเต่งตึงดูสุขภาพดี โดยปกติร่างกายสามารถผลิตเองได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นสมรรถภาพของร่างกายลดลง จะผลิต Collagen ได้น้อยลง ร่างกายผลิต Collagen เต็มที่ที่สุดในช่วงอายุ 20 ปี และเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป จะสูญเสีย Collagen ในปริมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี ทำให้ผิวแห้งและเกิดริ้วรอยได้ นอกจากปัจจัยอายุที่ไม่สามารถควบคุมได้ พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลาย Collagen ด้วยเช่นกัน หรือเรียกว่า “แก่ก่อนวัย” พฤติกรรมที่นำไปสู่การทำลาย Collagen ได้แก่

    • แสงแดด (UV) เป็นศัตรูหลักของ Collagen ซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนัง สามารถปกป้องโดยการทาครีมกันแดด และหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดโดยไม่จำเป็น
    • น้ำตาล ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และสามารถแย่งจับกับกรดอะมิโนได้
    • ความเครียดและการอดนอน กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีส่วนในการทำลาย Collagen ในชั้นผิว
    • สารเคมีจากควันบุหรี่ สารนิโคตินเป็นตัวเร่งความเสื่อมสภาพของเซลล์และยังเป็นตัวทำลายวิตามินซี
    • ขาดวิตามินซี ซึ่งเป็นตัวเสริมสร้าง Collagen และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่
    • ขาดโปรตีน การสร้าง Collagen ต้องใช้กรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการสังเคราะห์ Collagen

การทราบถึงการขาดหรือความไม่เพียงพอของ Collagen ในร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการทดสอบ มีเพียงแต่การตรวจวัดปริมาณ Collagen ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตาม เราสามารถประเมินด้วยตนเองเบื้องต้นได้จากการสังเกตอาการ เช่น ผิวหนังหย่อนคล้อย ไม่กระชับ มีริ้วรอย ผิวแห้งกร้านและลอกเป็นขุย ผิวไม่เรียบเนียน ใต้ตาลึกลง ผมร่วง แผลหายยาก และปวดกล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า “อาการขาด Collagen”

จากผลงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การรับประทานอาหารเสริม Collagen อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 8 – 12 สัปดาห์ ในปริมาณ 2.5 – 15 กรัม ต่อวัน จะส่งผลให้เห็นถึงความแตกต่างและปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง โดยทั่วไปแล้ว Collagen สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งผักผลไม้ (สีแดงส้ม) ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้าง Collagen สังเกตด้วยว่า การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็ทำให้ได้รับ Collagen ที่ค่อนข้างเพียงพอกับความต้องการของร่างกายแล้ว (2 – 3 กรัมต่อวัน) จึงไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเสริม และการได้รับสารอาหารเกินความจำเป็นอาจเป็นโทษได้ เว้นแต่บางภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการเสริม Collagen อาทิเช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมอาหาร ภาวะพร่องโภชนาการ ผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหาร และผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ เป็นต้น ถึงแม้ว่า Collagen จะมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนักด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า สามารถทาน Collagen เสริมได้ 5 – 7 กรัม และไม่เกิน 10 กรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 เดือน อย่างไรก็ตาม มีบุคคลบางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริม Collagen ด้วย เช่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะสรุปได้ถึงความปลอดภัย นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาล (เบาหวาน) เนื่องจากคอลลาเจนเปปไทด์อาจลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ที่เสี่ยงหรือเป็นนิ่วในไตและในถุงน้ำดี เนื่องจากกรดอะมิโนสามารถเปลี่ยนเป็นออกซาเลตได้ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพาะอาจไม่เป็นผลดีเมื่อทานคู่กับยา

ปัจจุบัน แหล่ง Collagen ชนิดที่ได้รับความนิยมมาจากสัตว์ทะเล (Marine collagen) อาทิเช่น ปลาทะเลน้ำลึก เป็นแหล่ง Collagen ชนิดที่ 1 (มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย) เนื่องจากมีโมเลกุลขนาดเล็กและดูดซึมได้ง่าย ความแตกต่างและข้อดีข้อเสียชอง Collagen จากแหล่งต่าง ๆ สรุปไว้ดังนี้

Bovine (กระดูกวัว) Porcine (กระดูกหมู) Marine (ปลาทะเล)
ข้อดี

Collagen Type 1 และ 3

ดูดซึมได้ดี

ช่วยเรื่อง ผิวพรรณ ผม เล็บ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อ หลอดเลือด

เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิว

ก่อให้เกิดการแพ้ค่อนข้างต่ำ

ข้อดี

Collagen Type 1 และ 3

บำรุงผิวพรรณ ผม เล็บ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อ หลอดเลือด

เพิ่มความหนาแน่นของไฟโบรบลาสต์

เพิ่มการสร้างเส้นใยคอลลาเจนในชั้นหนังแท้

ข้อดี

Collagen Type 1

ดูดซึมง่าย (โมเลกุลเล็กสุด)

กรดอะมิโนไกลซีน โปรลีน

ช่วยบำรุงผิว ผม เล็บ เส้นเอ็น

นิยมสกัดจากหนังปลาทะเลน้ำลึก

ข้อเสีย

ความปลอดภัย: โรคจากสัตว์สู่คนเช่นโรคไข้สมองอักเสบจากสปองจิฟอร์มวัวและโรคปากและเท้าเปื่อยอาจติดต่อผ่านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ข้อจํากัดทางศาสนาอิสลาม (หมู) ศาสนายิว (วัว)

ราคาแพง ใช้ทางชีวการแพทย์ เช่น รากฟันเทียม

ข้อเสีย

เสื่อมสภาพได้ง่ายกว่า

ไม่เหมาะกับการใช้งานทางชีวการแพทย์

จะเห็นได้ว่าแหล่ง Collagen มาจากสัตว์เป็นหลัก ทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ปัจจุบันมีการศึกษาและสังเคราะห์ Collagen เพื่อกลุ่มมังสวิรัติมากขึ้น เรียกว่า “Vegan collagen” จากการดัดแปลงพันธุกรรมของยีสต์และแบคทีเรีย (P. pastoris) เนื่องจากพืชไม่สามารถผลิต Collagen แต่ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์ Collagen ชนิดที่ 1 ได้ ส่วนใหญ่สกัดจากพืชที่ประกอบไปด้วย Asiaticoside (บัวบก) และ Ginsenosides (โสม) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าจะให้ประโยชน์เช่นเดียวกับคอลลาเจนจากสัตว์หรือใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สามารถรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ Collagen (หรือ Pro-collagen) ได้ เช่น วิตามินซี ไกลซีน โพรลีน ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น

Collagen เป็นสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าโทษ และมักเป็นอาหารเสริมกลุ่มแรกที่ได้รับความนิยม ด้วยสาเหตุการเสื่อมสภาพของสุขภาพผิวที่แปรผันไปตามช่วงอายุที่มากขึ้น และสมรรถภาพการทำงานของร่างกายที่ถดถอย สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Collagen จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผิว อาการข้างเคียงจาก Collagen ส่วนใหญ่มาจากการแพ้อาหาร (ทะเล) ดังนั้น ควรศึกษาถึงแหล่งอาหารที่ใช้ผลิตก่อนรับประทานเสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องเสริม Collagen การรับประทานอาหารจากธรรมชาติยังคงปลอดภัย (จากสารเจือปน) และได้รับสารอาหารที่หลากหลายมากกว่า การรับประทานโปรตีนที่เพียงพอจากแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และการได้รับวิตามินต่าง ๆ จากการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ ก็เพียงพอต่อความต้องการ Collagen ของร่างกาย ร่วมกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยทำลาย Collagen ต่าง ๆ ทั้งนี้ ความไม่สมดุลของสารอาหารส่งผลต่อความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการสร้าง Collagen โดยเฉพาะกรดอะมิโน โปรลีน ไลซีน ไกลซีน และวิตามินซี ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้าง Collagen