การวิจัยทางการแพทย์และจุลชีวะ ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าตื่นเต้นที่เราจะสามารถออกแบบการรับประทานอาหารให้ตรงกับ DNA ของแต่ละคน รวมทั้ง การใช้แบคทีเรีย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ หรือจุลชีพ (Microbes) ประเภทหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์นับพันล้านตัว และอาศัยอยู่ภายในลำไส้เป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งประมาณว่ามี ยีนส์แบคทีเรียที่อาศัยอยู่กว่า 500 สายพันธ์) โดยใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรค
ผลงานวิจัยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียในลำไส้ เพื่อนแท้ของมนุษย์ ได้มีการถ่ายโอนเซลล์ในลำไส้จากหนูอ้วนไปยังหนูผอม ทำให้หนูผอมมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ที่เก็บมาจากอุจจาระของมนุษย์ในรูปแบบยาแคปซูลเพื่อรักษาเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟฟิไซล์ การทดลองใช้แบคทีเรียในการป้องกันและรักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ต่าง ๆ ในปี 2007 หนังสือชื่อ Let Them Eat Dirt: Saving Your Child from an Over-sanitized World! ได้จุดประกายงานวิจัยต่าง ๆ ตามมามากมาย ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ถูกให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ตั้งแต่ขวบปีแรกมีอัตราเป็นโรคหอบหืดสูงกว่า การเก็บตัวอย่างอุจจาระของเด็กแรกเกิดอายุ 3 เดือน ที่ตรวจพบแบคทีเรีย 4 ประเภท FLVR จะมีอัตราการเป็นโรคหอบหืดต่ำ และการทดสอบในหนูทดลองก็ให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน รวมทั้ง ในปี 2020 วารสาร Nature ได้มีการตีพิมพ์ การนำจุลินทรีย์มาช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็งลำไส้ และการค้นพบแบคทีเรียบางประเภทในลำไส้ มีโอกาสนำไปสู่โรคมะเร็งได้
สังเกตด้วยว่า ปัจจุบัน มีการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก ปนเปื้อนอยู่กับอาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวัน เช่น เนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ทำให้สูญเสียสมดุลของปริมาณจุลินทรีย์ในร่างกาย และก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ บทความวิจัยหนึ่งในวารสาร Nature ได้ทดสอบอาสาสมัคร จำนวน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรับประทานเนื้อสัตว์ และกลุ่มรับประทานพืชผัก (Plant-based diet) เป็นเวลาเพียง 5 วัน พบว่า กลุ่มที่รับประทานพืชผัก มีจุลินทรีย์ที่มีสุขภาพดีกว่า และการทดสอบในหนูทดลอง ก็ให้ผลสอดคล้องกันคือ หนูในกลุ่ม High-fiber diet จะมีความสามารถในการต้านทานภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้มากกว่า
ผลการวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับแบคทีเรีย เช่น ทารกที่ได้รับนมจากแม่ จะมีภูมิต้านทานโรคภูมิแพ้ได้มากกว่า เด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในชนบท ที่มีแบคทีเรียแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดน้อยกว่า และการทดสอบในหนูทดลอง ก็ได้ผลลัพทธ์ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้ง ผลการวิจัยจำนวนมากได้ถูกแพร่หลายกันออกมาว่า การใช้ยาปฏิชีวนะ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ไฟเบอร์ต่ำ (Junk food) จะเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของแบคทีเรียในลำไส้ และสร้างสถิติใหม่ในวงการสุขภาพ คือ ในทุก ๆ 3 นาที จะมีชาวอเมริกัน 1 คน ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ เป็นเป็นน่าสังเกตด้วยว่า บรรพบุรุตของเราไม่ได้บริโภคอาหารสมัยใหม่ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ Fast food/Junk food และแบคทีเรียก็กินอาหารเหมือนกับที่เรากินเข้าไปด้วย “Bacteria eat what we eat” ซึ่งส่งผลให้สมดุลของแบคทีเรียในร่างกายเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง ผลงานวิจัยล่าสุด ได้มีการนำแบคทีเรียในลำไส้ ชื่อว่า Clostridia ซึ่งมีหน้าที่ในการเคลือบระบบย่อยอาหาร และได้ทดสอบกับหนูทดลอง พบว่า สามารถลดอาการแพ้จากถั่วได้ รวมทั้งผลงานวิจัยกับทารกที่แพ้นมวัว โดยให้นมวัวที่ผสมแบคทีเรีย Lactobacillus ก็สามารถลดอาการแพ้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในงานวิจัย ยังตั้งคำถามถึงการใช้โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่เป็นส่วนผสมอยู่ในอาหารต่าง ๆ เช่น โยเกิร์ต อาหารหมักดอง ว่าเป็นความสำเร็จทางการแพทย์แล้วหรือไม่ คำตอบคือ ปัจจุบันยังเป็นการค้นพบในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากจุลินทรีย์แต่ละชนิดไม่ได้ทำงานด้วยตัวมันเองเดี่ยว ๆ ยังต้องอาศัยจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมทำงานให้สอดประสานกัน เป็นที่สังเกตด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ Probiotics ที่เรารับประทานเข้าไป จะไม่เกาะติดและอยู่อาศัยได้ในลำไส้ และถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่า ทำไมเราถึงต้องบริโภคมันทุกวัน และอาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย ในการแพทย์สมัยใหม่ ได้พยายามคิดค้นการปลูกฝังแบคทีเรียจากอุจจาระ (ในรูปแบบยา) เข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีผลยืนยันทางการแพทย์ที่ชัดเจน และอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายด้วยเช่นกัน
จากการทบทวนผลงานที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่า จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ ได้ถูกค้นคว้าวิจัยกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านการบำรุง ป้องกัน และบำบัดโรค สิ่งที่เป็นช่องว่างในการพัฒนา คือ การกำจัด (Sanitize) เฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดี ขณะที่รักษาแบคทีเรียชนิดดีเอาไว้ จำนวนข้อมูลตัวอย่างทางการแพทย์ที่ยังมีไม่มากเพียงพอ อาทิเช่น ชุดข้อมูล DNA ของมนุษย์ ชุดตัวอย่างของจุลินทรีย์ แบคทีเรีย ชนิดต่าง ๆ ข้อมูลสารอาหารจากวัตถุดิบหรือเมนูอาหารที่เราบริโภคเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลในระดับจุลินทรีย์ ซึ่งทำให้การออกแบบอาหารให้ตรงกับ DNA เฉพาะบุคคลยังมีข้อจำกัดอยู่มาก รวมทั้ง ข้อมูลวิจัยทางการแพทย์แบบเปิด อาทิเช่น Open Biome ชื่อ The Cambridge ซึ่งเป็นธนาคารเก็บอุจจาระในมนุษย์แห่งแรกของโลก เพื่อวิเคราะห์หา DNA สาเหตุการเกิด การเฝ้าระวัง การป้องกัน และการบำบัดโรค และการปลูกถ่าย จุลินทรีย์จากอุจจาระ จากผู้ที่มีสุขภาพดี ไปยัง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคภูมิแพ้ มะเร็งลำไส้ เป็นต้น
ความเป็นไปได้ในประยุกต์ใช้ชีวนิเวศจุลชีพ จุลินทรีย์ หรือแบคทีเรีย รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ และอาหาร ไปใช้นั้นมีมากมายมหาศาล ที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์เข็ญและเพิ่มความสุขในการดำรงชีพของมนุษย์
ที่มารูป: CNN.com