มะเร็งปากมดลูก และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า 99.7% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก (มะเร็งในเพศหญิงที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม) จะตรวจพบเชื้อไวรัสที่เรียกว่า เอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) นอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังผ่านนิ้วมือ หรือปาก (น้ำลาย) แล้ว ไวรัส HPV สามารถติดต่อได้จากวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค (Non-sexual HPV transmission) อาทิ ผ้าเช็ดตัวที่อับชื้น (หรือที่ถูกผึ่งแห้งแล้วใช้ร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อ) หรือแม้แต่การเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ (น้ำที่ยังไม่ได้ถูกบำบัด หรือบำบัดได้ไม่ดีพอ)
HPV เป็น stable ไวรัส ที่สามารถทนอุณภูมิได้สูง มีความต้านทานต่อน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสามารถอาศัยอยู่ตามวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค หรือพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ (ทั้งเปียกและแห้ง) ได้เป็นระยะเวลาหลายวัน ไวรัส HPV จะทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันมีการตรวจพบเชื้อไวรัส HPV มากกว่า 200 สายพันธุ์ และที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมีมากกว่า 40 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยมี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 (รวมทั้งสายพันธุ์ 31, 33, 45, 52 และ 58) โดยวัคซีนที่ป้องกัน 2 สายพันธุ์นี้ (16 และ 18) สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
วัคซีนออกฤทธิ์นานเท่าไร
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าระยะเวลาการออกฤทธิ์ของวัคซีน HPV จะอยู่ได้นานเท่าไรหรือจำเป็นต้องฉีดซ้ำเมื่อไร และบ่อยเท่าไร แต่เท่าที่มีข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันรายงานถึงระยะเวลาที่วัคซีนจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสได้นานอย่างน้อย 3-5 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น สังเกตด้วยว่า วัคซีน HPV นั้น ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV เรื้อรัง แต่ไม่สามารถใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัส HPV ในคนที่ (อาจจะไม่ทราบ) ว่ามีการติดเชื้อมาก่อนแล้วได้
โดยทั่วไป การติดเชื้อไวรัส HPV มักเป็นชั่วคราวและหายไปเอง (ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ดีสามารถขจัดออกไปได้เอง โดยใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี) การติดเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นแบบเรื้อรังและทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 – 55 ปี สัญญาณของการติดเชื้อ HPV อาจจะปรากฏในช่วงเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน ปี หลายปี หรือ (บางกรณี) มากกว่า 10 ปีหลังจากได้รับเชื้อครั้งแรก โดยไวรัส HPV ตัวนี้จะใช้เวลาเฉลี่ยราว 5 – 10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อปากมดลูกปกติให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก
สังเกตด้วยว่า ในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HPV มักจะไม่แสดงอาการ และผู้ที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกมีโอกาสในการรักษาหายได้ อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยมักมีอาการบ่งชี้ อาทิ มีภาวะตกขาวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย มีเลือดออกกระปริดกระปรอยขณะที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน มีประจำเดือนมากและยาวนานมากกว่าปกติ มีเลือดออกหลังจากเข้าสู่วัยทอง หรือมีเลือดออกหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลในปี 2560 พบว่า หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 8,184 คนต่อปี (และมีอัตราเสียชีวิตเกิน 50%)
HPV DNA Test
เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV อย่างแม่นยำตั้งแต่เริ่มต้น (Pre-cancer) ทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก HPV DNA Test จะเป็นตรวจหาเชื้อไวรัสกลุ่มเสี่ยง 14 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 99% มีวิธีการตรวจเหมือนตรวจภายใน โดยใช้แปรงนุ่มเล็ก ๆ ป้ายเซลล์เยื่อบุปากมดลูกช่องคลอดด้านใน ส่งตรวจเหมือนวิธีการตรวจด้วยน้ำยา ซึ่งสามารถที่จะตรวจหาเซลล์และแยกน้ำยาเพื่อจะตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสได้ ข้อดีของการตรวจ HPV DNA คือ สามารถตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก สังเกตุด้วยว่า การตรวจพบเชื้อไวรัส HPV ไม่ได้หมายความว่า ท่านจำเป็นต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบไวรัส HPV อาทิเช่น สายพันธุ์ 16 แล 18 หมายถึง ท่านมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
กล่าวโดยสรุป การให้วัคซีนในเด็กหญิงและผู้หญิงอายุ 13-26 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน และการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด
ที่มารูป: mannatfertility