Meal-frequency

Should I be eating every few hours?

ควรกินบ่อย ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือกินแค่ 1-2 มื้อต่อวัน ถึงจะส่งต่อสุขภาพดีและลดน้ำหนักได้มากกว่ากัน ? อาหารเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายและสำคัญต่อสุขภาพ อาหารที่ดีอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน นอกจากสารอาหารครบ 5 หมู่ จังหวะเวลา (Meal time) และจำนวนมื้ออาหาร (Meal frequency) ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพเช่นกัน เนื่องจากการอดอาหารมากกว่า 4 ชั่วโมง ระบบเผาผลาญของร่างกายจะลดลง 30% ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวเองจากการอดอาหาร และเป็นเหตุผลว่า การรับประทานอาหารมื้อเช้า หลังตื่นนอนประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จึงเป็นสิ่งสำคัญ และส่งผลช่วยในการลดน้ำหนัก

ร่างกายมีวงจรระบบการทำงานที่เรียกว่า Biological clock หรือ “นาฬิกาชีวภาพ”ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การหลับ-ตื่น การหลั่งฮอร์โมน การเผาผลาญ และระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ “แสงสว่าง” ที่ส่งผ่านทางจอประสาทตา เข้าสู่สมอง และกระจายไปยังระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (เช่น การบริโภคอาหาร และกิจกรรมทางกาย) สวนทางกับ นาฬิกาชีวภาพนี้ จะส่งผลต่อความผิดปกติและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน และโรคเบาหวาน หรือกลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบเผาผลาญ ดังนั้น การรับประทานอาหารจำเป็นต้องสอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกายด้วยเช่นกัน

แล้วเราควรกินอาหารกี่มื้อต่อวัน? ถึงจะส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี

การรับประทานอาหารตามปกติเป็นที่เข้าใจกัน คือ  3 มื้อต่อวัน แต่ยังคงมีข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับเวลา และจำนวนมื้ออาหารที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทำ IF (Intermittent Fasting) การแบ่งย่อยมื้ออาหาร (มากกว่า 3 มื้อต่อวัน) เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมของร่างกายแต่ละบุคคล ผลการวิจัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนการแบ่งย่อยมื้ออาหารจำนวนหลาย ๆ มื้อต่อวัน เนื่องจากจะช่วยกระจายพลังงาน ลดปริมาณอาหารมื้อใหญ่ กระตุ้นการเผาผลาญได้มากกว่า และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนกล่าวว่า การรับประทานอาหาร 1-2 มื้อ หรือ 3 มื้อ หรือมากกว่า 3 มื้อต่อวัน ก็สามารถทำได้ ไม่ได้มีความแตกต่างในด้านประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงคือปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน

นอกจากนี้ ตามวงจรนาฬิกาชีวภาพแสดงให้เห็นว่า ไม่ควรอดอาหารมื้อเช้า (7.00-9.00 น.) ซึ่งเป็นอาหารมื้อสำคัญ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกายที่อดอาหารจากการนอนหลับตลอดคืน เป็นช่วงเวลาการทำงานของกระเพาะอาหาร และควรเป็นมื้ออาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนเป็นหลัก (20 – 30 กรัม) มีผลการวิจัยว่า การรับประทานอาหารมื้อเช้าจะช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลิน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิต เพิ่มการหลั่ง Growth hormone และลดความชุกต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในทางตรงกันข้าม การข้ามอาหารมื้อเช้ามีผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งสัมพันธ์กับโรคอ้วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของระบบเผาผลาญ อีกทั้งส่งผลต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต

เพื่อให้วงจรนาฬิกาชีวภาพทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราควรมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกัน ร่างกายมีช่วงเวลาใช้พลังงานในตอนกลางวัน และจะใช้พลังงานลดลงในตอนกลางคืนเพื่อสู่การพักผ่อนและกระบวนการซ่อมแซมร่างกาย เกี่ยวกับการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารแบบ IF หรือ 1 มื้อ หรือหลายมื้อต่อวัน ก็ควรเริ่มทานมื้อแรกหลังตื่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ไม่เกิน 9.00 น.) และงดอาหาร 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

โดยสรุป จำนวนมื้ออาหารต่อวันไม่มีความแตกต่างในด้านประโยชน์ต่อสุขภาพและการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก อย่างไรก็ตาม การแบ่งย่อยมื้ออาหารจำนวนหลาย ๆ มื้อต่อวัน จะมีประโยชน์กับกลุ่มบุคคล เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ที่ต้องการกระจายพลังงานและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอ และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญได้มากกว่า การรับประทานอาหารในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพ (ทานช่วงเวลากลางวัน) และการรับประทานอาหารมื้อเช้าที่มีโปรตีนสูง 20 – 30 กรัม จะช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก และส่งผลช่วยในการลดน้ำหนัก