โรคข้อเสื่อม และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
องค์การอนามัยโลกชี้ ไทยสถิติพุ่ง … เข่าเสื่อม ร้อยละ 70 ในผู้สูงอายุ ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในคนไทย มากกว่า 6 ล้านคน – โรคข้อเสื่อม หรือข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) คือ โรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่อยู่บริเวณส่วนปลายของกระดูก เนื้อเยื่อระหว่างข้อต่อกระดูกเกิดการผุกร่อน หรือแตกร้าวออกมา ที่บริเวณปลายของกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะมีกระดูกอ่อน (Cartilage) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือกันชน ช่วยลดการเสียดสีของกระดูกในขณะเคลื่อนไหวของข้อ ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะพบว่า กระดูกอ่อนนี้มีปริมาณน้ำ (Synovial fluid) ลดลง กระดูกอ่อนเสื่อมและผุกร่อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บปวดและบวมของข้อ มักเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป
สาเหตุที่ทำให้ข้อเช่าเสื่อม ได้แก่ เพศ อายุ น้ำหนักตัว พฤติกรรม (กิจกรรม) และพันธุกรรม โดยจะสังเกตเห็นว่า น้ำหนักตัว รวมทั้ง เพศ (หญิง) เป็นปัจจัยหลัก ที่ส่งผลให้มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 3 – 4 เท่า และมีแนวโน้มที่รุนแรงกว่า เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตนเจนในวัยหมดประจำเดือน ทำให้สูญเสียแคลเซียมและคอลลาเจน เกิดสภาวะกระดูกพรุนและกระดูกอ่อนเสื่อม นอกจากนี้ ปัจจัยจากพันธุกรรมมากถึง 40 – 60% ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม จะได้รับกรรมพันธุ์จากทางพ่อและแม่ จากผลการวิจัยพบว่า มียีนจำนวนหลายตัว อาทิเช่น TIMP2 COL9A1 และ IL6R ที่แสดงบทบาทสำคัญในผลิตคอลลาเจน กระดูกอ่อน (Cartilage) และอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin) เมื่อพบการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งของยีนดังกล่าว จะส่งผลให้มีโอกาสในการเกิดโรคข้อเสื่อมและกระดูกพรุนได้มากกว่าคนทั่วไป
การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เริ่มต้นจากการตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเสื่อม เพื่อชะลอหรือลดระดับความเสี่ยงก่อนการเกิดโรค การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึง การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกและข้อเข่า การได้รับแคลเซียม (จากอาหาร) และวิตามินดี (จากแสงแดด) อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงวัยหมดประจำเดือนควรชดเชยฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยการรับประทานเอสโตรเจนจากพืช (Phytoestrogens) ซึ่งพบมากในเมล็ดแฟลกซ์ ถั่วเหลือง งา ธัญพืช ผักใบเขียว บร็อกโคลี่ ผักเคล กระเทียม นอกจากนี้ จากผลการวิจัยยังพบว่า สารอาหารในกลุ่มปกป้องกระดูกอ่อนและป้องกันการอักเสบตามธรรมชาติ (Chondroprotective nutrients) ซึ่งพบมากใน ชาเขียว ผลกุหลาบป่า (Rose hips) ขิง ขมิ้น และทับทิม สามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรคข้อเสื่อม ช่วยรักษาสมดุลเมตะบอลิซึมของสารชีวโมเลกุลภายในกระดูกอ่อน (Cartilage) กระตุ้นให้ร่างกายมีการซ่อมแซมกระดูกอ่อนที่หุ้มผิวข้อให้กลับสู่ปกติ
นอกจากการดูแลเชิงป้องกันด้านโภชนาการแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกและข้อ เมื่อออกกำลังกาย กลไกในร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อซินโนเวียล (Synovial membrane) ผลิตน้ำหล่อลื่นข้อ (Synovial fluid) ออกมามากขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องการเสียดสีของกระดูกข้อต่อและช่วยในการเคลื่อนไหวให้ราบรื่น ในทางตรงกันข้าม การไม่ออกกำลังกาย จะทำให้น้ำหล่อลื่น Synovial fluid ถูกผลิตออกมาน้อยลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเสื่อมสูงขึ้น นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า การออกกำลังกายเพื่อชะลอหรือลดระดับความเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม ควรเป็นการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่น่องขา (Thigh) เพราะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรับน้ำหนักตัวก่อนถ่ายแรงกดต่อข้อเข่า อาทิเช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แอโรบิค โยคะ การเล่นเวท รวมทั้ง การเดิน และวิ่ง Jogging
ที่มารูป: Harvard Health