อาหารเสริมป้องกันและฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อม
ข้อเสื่อม สาเหตุทุพพลภาพในผู้สูงอายุไทยมากกว่า 6 ล้านคน … ของอาหารเสริมต่อการฟิ้นฟ๔ช้ข้อต่อวิตกระดขึ้น โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis: OA) คือ การเสื่อมของกระดูกอ่อนในข้อต่อกระดูกที่สึกกร่อนตามอายุการใช้งาน หรือเซลล์กระดูกอ่อนตายแล้วไม่ซ่อมสร้างใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีของกระดูกจากการเคลื่อนไหวของข้อหรือเมื่อรับแรงกระแทก ทำให้กระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูกข้อต่อบางลง ช่องว่างระหว่างข้อแคบลง ปุ่มกระดูกยื่นออกจากการพยายามซ่อมแซมกระดูกอ่อน เกิดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว ทำให้มีเสียงกรอบแกรบในข้อ โรคข้อเสื่อมเป็นผลจากเมตาบอลิซึมที่ไม่สมดุลของกระดูกอ่อนที่มีการสลายมากกว่าสร้าง โดยเริ่มต้นจาก “การอักเสบของเยื่อบุข้อ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก และพบในคนไทยมากกว่า 6 ล้านคน ร้อยละ 80-90 พบในผู้สูงอายุ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ
ข้อต่อของอวัยวะร่างกายประกอบด้วยกระดูก 2 ชิ้นที่ถูกหุ้มด้วย “กระดูกอ่อนผิวข้อ” หรือ “กระดูกอ่อน” ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือกันชน ข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับข้อต่อทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะข้อที่ใช้รับน้ำหนักหรือใช้งานมาก ยกตัวอย่างเช่น ข้อเข่า พบได้บ่อย ซึ่งเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุด พับ งอ และรับน้ำหนักมากที่สุด ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อมือ ข้อนิ้ว ตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของแต่ละคน ปัจจัยจากอายุมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 40 ปี อาการจะชัดมากขึ้นเมื่อเข้าสู่อายุ 60 ปี นอกจากนี้ สาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ข้อเสื่อมไวขึ้น ได้แก่
-
- เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย 2-3 เท่า โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือนที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
- น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เพิ่มการรับน้ำหนักที่ข้อเข่า
- การบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการใช้งานที่สะสมเป็นเวลานาน
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ นั่งคุกเข่า หรือการงอข้อต่อน้อยกว่า 90 องศาบ่อย ๆ
อาการและการตรวจคัดกรองเบื้องต้น
-
- อาการข้อติดหลังตื่นนอน ขยับแล้วรู้สึกเจ็บไม่เกิน 30 นาที (ถ้ามากกว่า 30 นาที อาจเป็นสาเหตุอื่น)
- เจ็บปวดในข้อเมื่อมีการใช้งาน
- ข้อบวมและผิดรูป
- มีเสียงขรูดจากการเสียดสีของกระดูกข้อต่อ
- สูญเสียการเคลื่อนไหว
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อไม่มั่นคง
นอกจากอายุที่มากขึ้นและปัจจัยทั่วไปตามการเสื่อมสภาพของร่างกายแล้ว นักกีฬาก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อมก่อนวัย จากการใช้งานร่างกายที่หนักและได้รับแรงกระแทกเป็นประจำ มักจะมีอาการปวดขา เข่า ศอก อยู่บ่อย ๆ ผลการศึกษา พบปัญหาข้อเสื่อมได้บ่อยที่สุดในนักวิ่งมาราธอน ตามด้วยกีฬาอื่น ๆ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล แฮนด์บอล มวย และยกน้ำหนัก เป็นต้น กีฬาเหล่านี้มีการหมุนหรือเปลี่ยนทิศทางของข้อมาก มีการกระแทกที่รุนแรง และใช้ข้อต่อซ้ำ ๆ และหากมีความสงสัยในอาการข้อเสื่อม สามารถทำการประเมินอาการเบื้องต้นด้วยตนเองได้ โดยใช้แบบประเมิน อาทิเช่น แบบประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม Oxford Knee Score https://www.physio-pedia.com/Oxford_Knee_Score เป็นต้น
สำหรับแนวทางการรักษาข้อเสื่อม ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือให้ข้อต่อกลับสู่สภาพเดิมได้ เป็นการรักษาด้วยยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพริก (Capsaicin gel) และตามปัจจัยเสี่ยงที่ดูแลได้ เช่น การควบคุมน้ำหนัก ลดการใช้ข้อนั้น ๆ กายภาพบำบัดฟื้นฟู และผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ผลการวิจัยพบว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ โดยไม่ใช้ยา เช่น การออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังกายในน้ำหรือ “ธาราบำบัด” ที่อาศัยแรงพยุงจากน้ำในการบริหารความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อ ลดแรงกระแทก ลดอาการปวด นอกจากนี้ การปั่นจักรยาน และการเดินช้า รวมถึงการเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม รองเท้าที่แบนและยืดหยุ่น หรือการเดินด้วยเท้าเปล่า ซึ่งได้มีการวิจัยแล้วว่า สามารถช่วยลดการรับน้ำหนักที่ข้อเข่า ทำให้อาการปวดลดลงได้
ความสัมพันธ์ของกลุ่มโรคเมตาบอลิก และโภชนบำบัดสำหรับการป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม
-
- น้ำหนักเกินและโรคอ้วน: การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม (BMI 18.5-22.9 kg/m2) โดยการควบคุมการรับประทานอาหารที่สมดุลต่อความต้องการพลังงานของร่างกาย บริโภคไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 11% ของความต้องการพลังงานต่อวัน (22 กรัม สำหรับผู้หญิง 26 กรัม สำหรับผู้ชาย) เพื่อลดการรับน้ำหนักที่ข้อเข่า น้ำหนักตัวที่ลดลง 5-10% สามารถช่วยลดอาการปวดข้อได้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2: ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะกระตุ้นการสะสมของ AGEs (สารก่อพิษในร่างกาย) และลดการทำงานของ Chondrocyte (เพื่อใช้สร้างกระดูกอ่อน) ดังนั้น การควบคุมน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้การสร้างกระดูกอ่อนเป็นไปอย่างปกติ
- กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFA): โอเมก้า-3 (ลดการอักเสบ) และโอเมก้า-6 (กระตุ้นการอักเสบ) โดยการบริโภคที่สมดุล โอเมก้า-6 : โอเมก้า-3 ในอัตราส่วน 4 : 1
จากการทบทวนผลงานวิจัย สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน และสารอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับการป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม สามารถสรุปได้ดังตาราง
Recommend | Per day | Avoid | Per day |
Vitamin A | 700 ug | Omega-6 | – |
Vitamin C | 80 mg | Cholesterol | 200 mg |
Vitamin D | ≤25 ug | ||
Vitamin E | 15 mg | ||
Vitamin K | 1 ug/kg | ||
Omega-3 | 3 g | ||
Omega-9 | – |
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อมที่ได้รับความนิยม อาทิเช่น “กลูโคซามีน” และ “คอนดรอยติน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายในกลุ่มที่ช่วยลดอาการปวด และช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ จากรายงานวิจัยพบว่า กลูโคซามีนและคอนดรอยติน จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยข้อเสื่อมที่ยังมีการทำงานของกระดูกอ่อน หรือมีความรุนแรงระดับน้อยถึงปานกลาง แต่จะไม่ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูโรคข้อเสื่อมระดับรุนแรง (ไม่มีกระดูกอ่อนเหลืออยู่) นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า อาหารเสริมแคลเซียม จะส่งผลดีในการบำรุงซ่อมแซมความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งไม่ใช่กระดูกอ่อน หรือ กระดูกอ่อนผิวข้อ และยังไม่มีผลการวิจัยว่า อาหารเสริมคอลลาเจน (ชนิดที่ 2) สามารถช่วยสร้างกระดูกอ่อนที่ช่วยเพิ่มความหนาของผิวข้อ แต่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดข้อได้
การป้องกันการเสื่อมของอวัยวะร่างกายย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัย 40 ปี ร่างกายเริ่มมีการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ลดลง นั่นเป็นสัญญาณเตือนถึงสภาพร่างกายที่ถดถอย ควรหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ใส่ใจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพระยะยาว สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาข้อเสื่อม ถึงแม้ว่าการรักษาไม่สามารถคืนข้อต่อสู่สภาพเดิมได้ แต่การรู้เท่าทันสมรรถภาพร่างกายตนเองสามารถชะลอความเสื่อมและลดความรุนแรงของโรคได้ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ใช้งานข้อต่อเกินความจำเป็น ควบคุมน้ำหนักตัว ใส่ใจสารอาหาร ออกกำลังกายเค ลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ สิ่งสำคัญคือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า และการเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม