Parkinson

พาร์กินสัน ความเสื่อมทางสมองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในผู้สูงอายุ โภชนบำบัดและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

อาการสั่นเกร็ง ลักษณะเด่นของโรคพาร์กินสันที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทพบได้บ่อยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุ และเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองฯ ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง รองจากโรคอัลไซเมอร์ จากข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันราว 60,000 คน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากขึ้นตามประชากรผู้สูงอายุ สถิติล่าสุดพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 3% ของประชากรผู้สูงอายุ หรือประมาณ 360,000 คน จาก 12 ล้านคนในปัจจุบัน (ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ 2565)

พาร์กินสัน (Parkinson) เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากการลดการหลั่งสารสื่อประสาท “โดพามีน” ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้มีอาการสั่น แขนขาเกร็ง ก้าวไม่ออก เสียการทรงตัว เคลื่อนไหวร่างกายช้า พูดเสียงเบา เคี้ยวกลืนลำบาก และท้องผูก การรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันเป็นแบบประคับประคอง ยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้

การตรวจคัดกรองโรคพาร์กินสันเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น โดยใช้แบบประเมินของ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ (2565) จำนวน 11 ข้อ

    1. มือหรือขาเคยมีอาการสั่น
    2. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ลำบาก
    3. เดินก้าวเท้าสั้น ๆ และเดินซอยเท้าถี่
    4. เวลาเดิน แขนแกว่งน้อยลง
    5. หลังคู้งอ เวลาเดิน
    6. หมุนตัวกลับเวลาเดินได้ลำบาก
    7. เคยมีคนบอกว่าเสียงเบากว่าเมื่อก่อน
    8. เวลานอนพลิกตัวได้ลำบาก
    9. เขียนหนังสือช้าลง หรือเล็กลงกว่าเดิม
    10. เมื่อไม่นานนี้ ทำอะไรช้าลงกว่าเดิม เช่น อาบน้ำ แต่งตัว หวีผม
    11. รู้สึกว่า กลัดกระดุมหรือเปิดฝาขวดได้ลำบากกว่าเดิม

หากประเมินอาการได้มากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ควรพบแพทย์ และหากมีอาการน้อยกว่า 5 ข้อ แนะนำให้ตรวจเช็คอาการเป็นระยะ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นพาร์กินสัน นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า โรคพาร์กินสัน ยังแสดงอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว อาทิเช่น คิดช้าลง ความจำไม่ดี ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท นอนละเมอออกท่าทาง ท้องผูก จมูกดมกลิ่นไม่ค่อยหรือได้กลิ่นลดลง

โรคพาร์กินสัน ยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจัยส่วนใหญ่มาจาก อายุ เพศ (เพศชายมีโอกาสเกิดโรคฯ มากกว่าเพศหญิง 1.5 เท่า) มลพิษทางสิ่งแวดล้อม โรคหลอดเลือดสมอง ประวัติการบาดเจ็บทางสมอง และร้อยละ 10-15 มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม (โดยจะเริ่มมีอาการก่อน อายุ 50 ปี) ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม มักจะพบการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งของยีน อาทิเช่น ยีน AGT5 PARK7 LRRK2 และ GBA และหากมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ควรเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ปัญหาที่มักพบในผู้ป่วยพาร์กินสันคือ ภาวะโภชนาการที่เป็นเหตุมาจากอายุและอาการของโรค โดยแบ่งออกเป็น 5 แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่พบได้บ่อย ได้แก่

    • ปัญหาทุพโภชนาการ: ด้วยอายุและอาการของโรครบกวนการกินและการอยู่ของผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอครบ 5 หมู่ และติดตามน้ำหนักตัวเป็นระยะ ให้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ปัญหากลืนลำบาก: พบร้อยละ 60-80 สาเหตุจากการทำงานที่ผิดปกติร่วมกันกับระบบทางเดินอาหาร เสี่ยงต่อการสำลักได้ง่าย ควรปรับอาหารให้มีความข้นหนืดตามความสามารถในการกลืน ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป
    • ปัญหาท้องผูก: พบร้อยละ 50-80 สาเหตุจากลำไส้บิดตัวลดลง ทำให้อาหารค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน แนะนำให้เพิ่มใยอาหารจากผักผลไม้ หรือไฟเบอร์ 30-35 กรัม และดื่มน้ำ 1.5 ลิตร ต่อวัน รวมทั้ง ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร
    • ปัญหาคลื่นไส้ อาเจียน: อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นจากยา หากมีอาการหลังทานยา ไม่ควรทานยาในมื้ออาหารหรือหลังทานอาหารทันที
    • การเพิ่มประสิทธิภาพของยา: ยาลีโวโดปา (Levodopa) เป็นยาหลักในการโรครักษาพาร์กินสัน ซึ่งมีการดูดซึมที่ลำไส้เล็กผ่านวิธีเดียวกับการดูดซึมโปรตีน การทานยาในเวลาเดียวกับทานโปรตีน จะลดการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย ยาลีโวโดปา จะดูดซึมมากในขณะที่ท้องว่าง ส่วนโปรตีนยังคงเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาก่อนมื้ออาหาร อย่างน้อย 30 นาที โดยลดปริมาณโปรตีนในมื้อเช้าและมื้อเที่ยง และเพิ่มสัดส่วนในมื้อเย็น เพื่อให้ปริมาณโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (12-15%)

อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยง หรือกระตุ้นความรุนแรงในผู้ป่วยพาร์กินสันได้ เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะชีสและโยเกิร์ต อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง อาหารแปรรูป เนื่องจากมีสารอนุมูลอิสระ กระตุ้นการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน ทำให้เซลล์ถูกทำลายได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันมีสารอาหารอีกหลายชนิดที่ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น Phytonutrients (Carotenoid และ Beta-carotene) จากผักผลไม้ Genistein (ถั่วเหลือง) Levodopa (ถั่วฟาวา) โอเมก้า 3 จากสัตว์เนื้อขาว ไขมันต่ำ เช่น ปลา หอยนางรม Catechin และ EGCG (ชา) Resveratrol ที่ผิวองุ่นหรือไวน์แดง รวมทั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อย

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน (Mediteranean diet) ยังช่วยสนับสนุนการชะลอความเสื่อมของระบบประสาทลง โดยเน้นรับประทานอาหารจากแหล่งพืชผักผลไม้ โปรตีนเนื้อขาว ไขมันไม่อิ่มตัวจากน้ำมันมะกอก และไวน์แดง รวมทั้ง เพิ่มการขยับร่างกายอย่างง่าย เช่น แกว่งแขนแกว่งเท้า การเดิน ปั่นจักรยาน รำไทเก๊ก รำมวยจีน เต้นลีลาศในจังหวะชะชะช่าและแทงโก้ ฯลฯ ส่วนสารอาหารที่มักพบการบกพร่องได้บ่อย ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินดี เหล็ก สังกะสี และแคลเซียม ซึ่งแนะนำให้บริโภคจากอาหารโดยตรง มากกว่าการรับประทานจากอาหารเสริมเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการดูดซึมยาได้ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

โดยสรุป การรักษาอาการของโรคพาร์กินสัน จะใช้ยาเป็นหลักควบคู่กับโภชนาการที่เหมาะสม สิ่งที่สำคัญคือ การหมั่นสังเกตอาการ ไม่ลืมทานยาหรือหยุดยาด้วยเอง รวมทั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงหรือความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรได้รับพลังงานและโปรตีนที่เพียงพอต่อร่างกาย ระวังช่วงเวลามื้ออาหารกับการทานโปรตีน เพิ่มกิจกรรมทางกายเพื่อลดอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยังไม่มีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดได้ แต่การตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น

ที่มารูป : danceflavors