Sub-optimal health

ภาะวะพร่องสุขภาพ ผลจากพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่ไม่สมดุล

บ่อยครั้งที่ไปโรงพยาบาลเพราะอาการเจ็บป่วย และมักได้ยากลับมาทานตามอาการ แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคใด ๆ นั่นเป็นเพราะไม่ใช่ความผิดปกติที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่กลับสร้างความบั่นทอนสุขภาพอยู่ไม่น้อย หรือเรียกว่า “ภาวะพร่องสุขภาพ”

ภาวะพร่องสุขภาพ (Sub-optimal health) เป็นภาวะก้ำกึ่งระหว่างสุขภาพดีและโรคภัยจากการขาดวิตามินและเกลือแร่เพียงเล็กน้อย หรือเรียกว่า “สถานะที่สามของสุขภาพ” ไม่ใช่โรค แต่เป็นสัญญาณหรืออาการเตือนก่อนที่จะนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ จากอาการเรื้อรังที่ไม่แสดงความผิดปกติทันที แต่สร้างความบั่นทอนสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เป็นปัญหาใหม่ทางสาธารณสุขที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้เนื่องจากความไม่ชัดเจนและไม่เฉพาะเจาะจงของอาการ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพและวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การขาดวิตามินดีซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลกในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่วัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีผลกระทบร่วมจากอายุที่มากขึ้น

อาการเสื่อมจากภาวะพร่องสุขภาพจะค่อยเป็นค่อยไป และไม่มีอาการที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับกลุ่มสารอาหารที่บกพร่อง เช่น

    • ภาวะพร่องวิตามินดี และแคลเซียม ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดกระดูก วิตกกังวล ความอยากอาหารลดลง จากวิถีชีวิตที่ปกป้องหรือป้องกันผิวจากแสงแดดทำให้ร่างกายสังเคราะห์ได้ไม่เพียงพอ
    • ภาวะพร่องธาตุเหล็ก วิตามินบี9 หรือวิตามินบี12 ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น จากการผลิตเม็ดเลือดแดงที่ลดลง
    • ภาวะพร่องวิตามินเอ วิตามินซี และสังกะสี ทำให้เป็นหวัด เจ็บป่วยง่าย จากภูมิคุ้มกันทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
    • ภาวะพร่องแมกนีเซียม วิตามินบี6 และวิตามินบี 12 ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นแล้วไม่สดชื่น จากการผลิตเซโรโทนิน และเมลาโทนินที่ลดลง

สาเหตุการขาดวิตามินและเกลือแร่มาจากการบริโภคสารอาหารที่ไม่เพียงพอ (ปฐมภูมิ) และผลจากโรคประจำตัวที่มาจากวิถีชีวิต (ทุติยภูมิ) เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่เจอแสงแดด การใช้ยา รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพด้วยตนเอง สามารถทำแบบสอบถาม (SHSQ-25) Suboptimal health status questionnaire-25 ครอบคลุมด้วยข้อคำถาม 5 หมวดหมู่ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และสถานะสุขภาพจิต ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ค่าแนะนำปริมาณสารอาหารที่ควรบริโภคและค่าสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวันสำหรับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และตัวอย่างแหล่งอาหาร

สารอาหาร ค่าแนะนำ (RDA) ค่าสูงสุด (UL) แหล่งอาหาร
วิตามิน A (ug) 800 3000 น้ำมันตับปลา ตับ นม ไข่ ผักผลไม้สีเขียว ส้ม เหลือง
วิตามิน D (ug) 5 100 แสงแดด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู กุ้ง
วิตามิน B6 (ug) 2 100 สัตว์เนื้อแดง และไข่แดง
วิตามิน B9 (ug) 200 1000 ดอกะหล่ำ ดอกและใบกุยช่าย มะเขือเทศ แตงกวา
วิตามิน B12 (ug) 2 1000 เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น
วิตามิน C (mg) 60 2000 ผักและผลไม้รสเปรี้ยว
เหล็ก (mg) 15 120 สัตว์เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว
แคลเซียม (mg) 800 2500 นมและผลิตภัณฑ์ ผักใบเขียว
สังกะสี (mg) 15 40 ไข่ เต้าหู้ ผักโขม เห็ด ธัญพืช หอยนางรม
แมกนีเซียม (mg) 350 500 ธัญพืช โฮลเกรน ผักใบเขียว

RDA: Recommended Dietary Allowances, UL: Tolerable Upper Intake Levels

สุขภาพถือเป็นกุญแจสำคัญของชีวิต องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้นิยามสุขภาพว่า “สภาวะความผาสุกทางร่างกาย จิตใจ และสังคมที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่การไม่มีโรคหรือความทุพพลภาพเท่านั้น” ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรคที่เกิดจากการขาดสารอาหารรุนแรงนั้นจะพบเจอได้ยาก แต่การบริโภคสารอาหารรอง (วิตามินและแร่ธาตุ) ที่ไม่เหมาะสมยังคงเป็นเรื่องปกติ สาเหตุหลักจากวิถีชีวิตที่บริโภคสารอาหารไม่เป็นไปตามคำแนะนำ (RDA) ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ที่รบกวนสุขภาพ เช่น การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น การบริโภคสารอาหารที่เพียงพอเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่สภาวะสุขภาพที่ดี สารอาหารตาม RDA หรือ “ค่าต่ำสุดที่ควรบริโภคเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี” อาจเป็นผลดีกว่าในผู้ที่บริโภคมากกว่าค่าแนะนำโดยไม่ควรเกินค่าสูงสุดต่อวัน จะเห็นได้ว่า แหล่งของวิตามินและเกลือแร่ส่วนใหญ่พบได้ในผักผลไม้สด ดังนั้น การรับประทานผักผลไม้วันละ 400 กรัม หรือ 5 ฝ่ามือ ตามคำแนะนำของ WHO ก็เพียงพอต่อการป้องกันการขาดวิตามินและเกลือแร่ได้ในผู้ที่มีสุขภาพดี และควรบริโภคในปริมาณที่มากกว่าสำหรับผู้ที่ขาด

การเสริมวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่ขาด เพียงแต่จำเป็นต้องทราบถึงประโยชน์และโทษของการเสริมนั้น ๆ แน่นอนว่าการขาดวิตามินและเกลือแร่เป็นผลเสียต่อร่างกาย แต่การเสริมที่เกินกว่าความต้องการจะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินที่ไม่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามิน A, D, E และ K และการเสริมโดยไม่จำเป็นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การตรวจวัดระดับวิตามินและเกลือแร่ก่อนการเสริม หรือ “Personalized Vitamin” เป็นหนึ่งในการรักษาเฉพาะบุคคลภายใต้การดูแลของแพทย์ ช่วยลดปริมาณการเสริมเกินความจำเป็นที่อาจเกิดโทษต่อร่างกายได้

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สาเหตุหลักของภาวะพร่องสุขภาพมาจากพฤติกรรมและวิถีชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างแรก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการนอนหลับ รวมทั้งการรู้เท่าทันสุขภาพ และหมั่นสำรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ยังคงเป็นการดูแลป้องกันที่ดีที่สุด แต่ด้วยอุปสรรคจากวิถีชีวิตวัยทำงานทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปได้ค่อนข้างยาก การเสริมสารอาหารที่ขาดเป็นทางออกที่ดีสำหรับบุคคลเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การเสริมอาหารควบคู่กับอาหารเพื่อสุขภาพย่อมเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่า สิ่งสำคัญคือการรับรู้ประโยชน์และโทษของสารอาหารที่ต้องการเสริม และคอยติดตามตนเองสม่ำเสมอ ดังนั้น ควรศึกษาปริมาณของวิตามินหรือเกลือแร่ในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายหรือตรวจระดับวิตามินและเกลือแร่ก่อนการเสริม และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนบริโภคเสมอ เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการอาการบั่นทอนจากภาวะพร่องสุขภาพเหล่านี้ นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่อไปได้