Vitamin K

วิตามิน K มีความสำคัญที่มิใช่เพียงทำให้เลือดแข็งตัว

วิตามินเค (Vitamin K) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน และเป็นที่รู้จักในนาม วิตามินเพื่อการแข็งตัวของเลือด “Coagulation” จากการสังเคราะห์ Gla protein และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ เพื่อช่วยคงการแข็งตัวของเลือดให้เป็นไปตามปกติ วิตามิน K ในธรรมชาติมี 2 ประเภท ได้แก่ วิตามิน K1 (Phylloquinone หรือ PK) พบในพืช  โดยเฉพาะผักใบเขียว เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด และเป็นประเภทของวิตามิน K ส่วนใหญ่ที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหาร และวิตามิน K2 (Menaquinone หรือ MK) สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ เกี่ยวข้องกับสุขภาพกระดูกและหลอดเลือด มีความยาวของสายที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ MK-1 ถึง MK-13 ความยาวที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการละลายในไขมันที่มากขึ้น และอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น โดยรูปแบบที่ดีที่สุด คือ MK-7 และยังมีชนิดสังเคราะห์ทางเคมี Menadione (K3) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ K2 (ใช้สำหรับทางการแพทย์)สังเกตด้วยว่า นอกจาก Vitamin K จะเป็นกุญแจสำคัญในการแข็งตัวของเลือด ยังสัมพันธ์กับสุขภาพกระดูกและระบบหลอดเลือด จากการทำงานของ Vitamin K2 (MK) ร่วมกับ Vitamin D (D3)

สุขภาพกระดูก

Vitamin K2 (MK-7) กระตุ้นเซลล์สร้างกระดูก ให้มากกว่าเซลล์สลายกระดูก ในกระบวนการ Bone Remodeling (ซึ่งมีการสร้างและสลายกระดูกทดแทนกันตลอดเวลา) ทำให้สามารถป้องกันการสลายของกระดูกได้ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับ Vitamin D เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก โดย Vitamin D ช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่หลอดเลือด และมี Vitamin K2 (MK-7) ทำหน้าที่ในการนำพาแคลเซียมที่อยู่ตามหลอดเลือดไปยัง Osteocalcin ไปยังกระดูก (Bone) เพื่อเพิ่มความแข็งแรง หาก Vitamin K2 ต่ำ จะทำให้กระดูกบาง และเกิดการแตกหักของกระดูกได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้สูงอายุ

สุขภาพหลอดเลือด

จากแคลเซียมที่ถูกดูดซึมโดย Vitamin D เข้าสู่หลอดเลือด (ซึ่งยังไม่ใช่ปลายทางของแคลเซียม) อาจเกิดการสร้างหินปูนเกาะตามผนังหลอดเลือดได้ (Calcium Vascular Calcification) และเป็นสาเหตุของหลอดเลือดแข็งตัว ทั้งนี้ Vitamin K2 (MK-7) จะทำหน้าที่ในการนำพาแคลเซียมจากผนังหลอดเลือดไปสะสมยังกระดูก (ซึ่งเป็นปลายทางของแคลเซียม) ทำให้หลอดเลือดสามารถลำเลียงเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ

จะเห็นได้ว่า Vitamin K2 และ Vitamin D3 สัมพันธ์โดยตรงต่อการเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด การขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนและภาวะหลอดเลือดแข็งตัวได้ เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ ยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับ Vitamin K จากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ยกตัวอย่างเช่น

การป้องกันระบบประสาทและภาวะสมองเสื่อม

การศึกษาวิจัยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ Vitamin K1 สัมพันธ์กับ Vitamin K2 ที่มีส่วนช่วยในป้องกันการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดสมอง และด้วยคุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันการตายของเซลล์จาก Beta-amyloid (โปรตีนที่ขัดขวางการส่งสัญญาณประสาท) และลดความเครียดของปฎิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้

คุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

Vitamin K2 โดยเฉพาะ MK-7 และ MK-9 มีส่วนช่วยในการยับยั้งการหลั่ง Cytokine ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบและเกี่ยวข้องกับการลุกลามของมะเร็ง โดยป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่า การเสริม Vitamin K หลังการรักษายังช่วยให้โอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคลดลง ดังนั้นการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับ Vitamin K อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งได้

ตัวอย่างอาหารที่มี Vitamin K สูง

แหล่งอาหาร ปริมาณต่อ 100 กรัม (ไมโครกรัม)
ผักโขม 1710
นัตโตะ (Natto) 1103
ผักปวยเล้ง 483
คะน้า 390
กุยช่าย 213
กะหล่ำดาว 177
ผักกาดหอม 126
บร็อคโคลี 102
กะหล่ำปลี 59
ถั่วเหลือง 47
กิมจิ 44
อะโวคาโด 21

ข้อมูลอ้างอิง : UDSA https://fdc.nal.usda.gov/index.html

ถึงแม้ว่าอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งของ Vitamin K1 แต่ใยอาหารในผักผลไม้นั้นเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Probiotics) ซึ่งสังเคราะห์ Vitamin K2 ดังนั้น Vitamin K1 สามารถเปลี่ยนไปเป็น Vitamin K2 ได้ ตามค่าแนะนำ DRI (Daily Reference Intake) ควรบริโภค Vitamin K 80 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการแข็งตัวของเลือดให้เป็นไปตามปกติ แต่สำหรับสุขภาพกระดูกและหลอดเลือดนั้น แนะนำให้บริโภค 200 ไมโครกรัม ร่วมกับ Vitamin D 1,000 IU หรือ 25 ไมโครกรัมต่อวัน

Vitamin K มีส่วนสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ความแข็งแรงของกระดูก และสุขภาพหลอดเลือดอย่างชัดเจน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการก่อให้เกิดลิ่มเลือด ส่วนประโยชน์ทางระบบประสาทและการต้านมะเร็งนั้น มีเพียงการศึกษาจำนวนน้อยและยังไม่มีการระบุผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยในสัตว์ทดลองนั้น Vitamin K มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและมะเร็งได้ และอันตรายจากอาหารเสริม Vitamin K นั้นค่อนข้างต่ำ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ผู้ป่วยที่ได้รับยา Warfarin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ซึ่งจะทำงานตรงข้ามกัน ปริมาณ Vitamin K ที่สูง และจะรบกวนการออกฤทธิ์ของยา Warfarin ได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มี Vitamin K แต่อย่างใด สารอาหารอื่น ๆ จากผักใบเขียวนั้นยังจำเป็นต่อร่างกาย เพียงแค่ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกวัน และไม่ปรับขนาดยา Warfarin ด้วยตนเอง